2552-10-29

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 12 : บทสรุป

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดสำนึกในถิ่นที่
กับงานสถาปัตยกรรมไทย

ในแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรมและทัศนะคติของคนในชุมชน นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภูมิหลังทางด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ เป็นต้น จึงทำให้บุคคลในชุมชนมีความแตกต่างกัน และรวมไปถึงงานสถาปัตยกรรมยังสะท้อนถึงวิถีชีวิตของคน ในปัจจุบันงานสถาปัตยกรรมได้ถูกออกแบบให้มีความหมายและสามารถสื่อความหมายต่อผู้ใช้สอยได้มากขึ้น โดยความหมายและสำนึกในถิ่นที่กับงานสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการออกแบบเพื่อสร้างความต่อเนื่องระหว่างงานสถาปัตยกรรมกับบริบทโดยรอบ และยังรวมไปถึงการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ดังเช่น งานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในประเทศไทย ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในสังคมที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น ความแตกต่างเหล่านี้มีทั้งปัจจัยด้านภูมิศาสตร์และด้านวัฒนธรรม ซึ่งกล่าวถึงลักษณะร่วมในแต่ละภูมิภาค รวมถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างของเรือนพื้นถิ่น อันประกอบไปด้วย ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ ปัจจัยด้านคติความเชื่อและประเพณี

1. ลักษณะร่วมของเรือนไทยแต่ละภูมิภาค
เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตร หรือเขตร้อนชื้น สภาพอากาศจึงไม่มีความแตกต่างกันมากในแต่ละภูมิภาค จึงทำให้เรือนไทยพื้นถิ่นแต่ละภูมิภาคมีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้างในบางส่วนของเรือน ซึ่งความคล้ายคลึงของเรือนพื้นถิ่นนั้นประกอบไปด้วย

1.1 วัสดุที่ใช้ : ส่วนใหญ่เรือนพื้นถิ่นจะนำไม้มาเป็นวัสดุหลักในการปลูกสร้างเรือนในทุกภูมิภาค เนื่องจากไม้เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น มีความคงทนถาวรพอสมควร สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้งานได้หลากหลาย ดังนั้นจึงนิยมใช้ไม้ นอกจากไม้แล้วยังมีการนำเอาวัสดุท้องถิ่นเข้ามาเป็นองค์ประกอบของเรือน ก็แล้วแต่ว่าท้องถิ่นนั้นมีวัสดุทางธรรมชาติชนิดใด

1.2 การยกพื้นเรือน : เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคร้อนชื้นจึงมีฝนตกชุก และเกิดอุทกภัยบ่อยครั้ง ดังนั้นเรือนพื้นถิ่นส่วนใหญจึงยกพื้นสูงเพื่อเป็นการป้องกันภัยจากธรรมชาติดังกล่าว ซึ่งในแต่ละภูมิภาคนั้นจะมีลักษณะการยกพื้นเรือนที่แตกต่างกันไป ตามความเหมาะสมของวิถีชีวิตในท้องถิ่น

1.3 พื้นที่สาธารณะของเรือน : เรือนพื้นถิ่นไทยส่วนใหญ่มักมีพื้นที่สำหรับส่วนกลางของครอบครัว หรือในระดับผังก็มีพื้นที่สำหรับชุมชน เพื่อใช้เป็นพื้นที่พบปะเพื่อนบ้าน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะนิสัยของคนไทยที่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่น ยอมเสียสละพื้นที่บางส่วนของเรือนให้เป็นพื้นที่สาธารณะได้
1.4 การลำดับศักย์ความสัมพันธ์ภายในพื้นที่ : วัฒนธรรมการอยู่อาศัยของคนไทยใน สมัยโบราณนั้นมีความนอบน้อมต่อผู้ที่อาวุโสกว่า ดังนั้นวิถีชีวิตการอยู่อาศัยจึงมีขนบธรรมเนียมที่ สะท้อนให้เห็นอุปนิสัยของคนไทยด้วย การลำดับศักย์ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ที่ให้ความสำคัญแก่ผู้อาวุโสกว่า การแบ่งพื้นที่ใช้สอยก็มีการแบ่งในลักษณะเดียวกัน เช่น การแบ่งห้องนอนภายในเรือน ห้องนอนที่ใหญ่ที่สุดจะเป็นห้องนอนพ่อ-แม่ ส่วนห้องนอนลูกสาวจะอยู่ติดกับห้องนอนพ่อและแม่ เพื่อให้ดูแลได้ง่าย ส่วนลูกชายจะให้นอนในส่วนของห้องพระ หากลูกชายแต่งงาน แล้วจึงแยกตัวออกไป ดังนั้นจึงไม่มีห้องนอนสำหรับลูกชายโดยเฉพาะ นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องระหว่างการลำดับศักย์ภายในครอบครัวกับการใช้พื้นที่ภายในงาน สถาปัตยกรรม

2. ความแตกต่างของเรือนไทยแต่ละภูมิภาค

2.1 ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ เป็นที่ทราบกันดีว่างานสถาปัตยกรรมย่อมมีการออกแบบให้มีความสอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์และสภาพอากาศของท้องถิ่น งานสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นก็เช่นกัน ในแต่ละท้องถิ่นมีสภาพอากาศที่ต่างกัน จึงทำให้เกิดความแตกต่างของรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม

2.1.1 เรือนพื้นถิ่นภาคเหนือ : มีลักษณะใต้ถุนสูงโล่ง แต่มีช่องเปิดค่อนข้างเล็ก นั่นเป็นเพราะสภาพอากาศที่ค่อนข้างหนาวเย็น และแห้งแล้งในฤดูหนาว จึงต้องการการป้องกันลมหนาวที่จะพัดเข้ามาภายในตัวเรือน แต่ในบางส่วนของเรือนก็ยังคงมีฝาไหล เพื่อใช้ระบายอากาศในฤดูร้อน ที่มีความแตกต่างจากฤดูหนาวเป็นอย่างมาก ส่วนหลังคาเรือนจะมีลักษณะยื่นคลุมพื้นที่ส่วนของเรือนเป็นอย่างมากเพื่อป้องกันน้ำค้าง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับเรือนพื้นถิ่นภาคใต้ ที่ใต้ถุนเรือนก็มีการยกสูงขึ้นเนื่องจากป้องกันน้ำท่วมที่เป็นน้ำป่าในช่วงฤดูฝน และพื้นที่บริเวณใต้ถุนนี้ก็ใช้ทำกิจกรรมได้หลากหลาย ทุก ๆ ส่วนของเรือนภาคเหนือได้รับการออกแบบให้สามารถตอบรับกับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี รูปลักษณ์ภายนอกจึงมีความเฉพาะตัวที่สามารถสื่อให้เห็นถึงความเป็นภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นลวดลายที่นำมาตกแต่ง ล้วนเป็นสำนึกในถิ่นที่อันมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

2.2 ปัจจัยด้านคติความเชื่อและประเพณี การดำรงชีวิตของชาวไทยนั้นอยู่ภายใต้คติความเชื่อทั้งทางศาสนาและไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีมาคู่กันจากอินเดียเข้ามาสู่ไทย มีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งลี้ลับอยู่เหนือธรรมชาติ โดยที่ตาคนธรรมดาไม่สามารถมองเห็นได้ ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า

“ ชนชาวไทยหรือกล่าวอย่างทั่วไปไม่ว่าชนชาวไร่ ทั้งที่เจริญแล้วและยังไม่เจริญ ย่อมมีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์เป็นส่วนมาก จะแตกต่างกันในทางเปรียบเทียบ ก็มีที่ความเชื่อมาก หรือเชื่อน้อยกว่ากันเท่านั้น และความเชื่อนี้ไม่ใช่มีอยู่ในหมู่ที่เรียนกันว่าชาวบ้านเท่านั้น แม้คนที่เรียกว่า ปัญญาชนก็มีความเชื่ออยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าเดิมทีเดียวเรานับถือผี ทั้งนี้ไม่ใช่แต่เราเท่านั้นไม่ว่าจะเป็น จีน แขก ฝรั่ง หรือคนชาติใดภาษาใด ก็ถือผีเป็นสรณะด้วยกัน ตลอดจนถือของขลังศักดิ์สิทธิและโชคลางด้วย ถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ จะต่างกันระหว่างชนชาติหรือผู้ที่ถือก็มีทั้งลักษณะประณีตหรือหยาบกว่ากัน อันเป็นเรื่องปลีกย่อยเท่านั้น หาใช่ต่างกันด้วยมูลฐานแห่งความเชื่อไม่ “ ( พระยาอนุมานราชธน 2512 : 151 )
จะเห็นได้ว่าคนไทยมีความเชื่อและประเพณีมาเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่มาช้านานจึงส่งผลถึงลักษณะของเรือนพักอาศัยที่มีรูปแบบต่างๆ ตามความเชื่อ โดยในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันดังนี้

2.2.1 เรือนพื้นถิ่นภาคเหนือ : เรือนทางภาคเหนือนั้นมีคติแฝงอยู่ด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านอันทรงคุณค่า ซึ่งประเพณีการสร้างเรือนนั้นมี 2 กรณีด้วยกันคือ วัฒนธรรมประเพณีเมื่อหญิงชาย แต่งงานเป็นครอบครัวใหม่อยู่ในช่วงสร้างฐานะจะต้องปลูกเรือนไม้บั่วหรือเรือนเครื่องผูกหรือไม้ไผ่ เมื่อมีฐานะมั่นคงจึงปลูกเรือนไม้จริงภายหลัง หรืออาจซื้อเรือนเก่ามาปลูกสร้างใหม่ ส่วนกรณีที่สองคือ เรือนที่มีลูกแต่งงานและย้ายออกไปสร้างเรือนใหม่ จำนวนคนในเรือนน้อยลง ผู้เป็นเจ้าของเรือนเห็นว่าเรือนเดิมมีขนาดใหญ่เกินไป จึงรื้อเรือนแล้วนำไม้บางส่วนมาปลูกเรือนใหม่ให้มีขนาดเหมาะสมกับจำนวนสมาชิกที่ยังคงอยู่อาศัยในเรือนเดิม เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากว่าเรือนพื้นถิ่นทางภาคเหนือจะต้องไม่มีการต่อเติมเรือนอันจะทำให้ไม่เป็นศิริมงคล หากคิดในหลักโครงสร้าง แล้วพบว่ามีความสอดคล้องกันดี และคติความเชื่อที่เกี่ยวกับการปลูกเรือนแต่ดั้งเดิมมีหลายประการเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมไม้ การปลูกเรือน จนกระทั่งการกำหนดทิศทางของตัวเรือนและองค์ประกอบเรือน เพื่อความเป็นศิริมงคลของผู้อยู่อาศัย ส่วนการจัดพื้นที่ภายในเรือนก็มีการคำนึงถึงคติความเชื่อดั้งเดิมด้วย เช่นตำแหน่งของห้องนอนพ่อแม่ควรอยู่ด้านทิศตะวันออกโดยมีห้องนอนลูกอยู่ด้านทิศตะวันตก ซึ่งทุกคนจะหันหัวนอนไปทางหิ้งพระ คือทิศตะวันออก หรือทิศใต้ของเรือนเสมอ จากคติความเชื่อที่มีอยู่ในทุก ๆ จุดของเรือนพื้นถิ่นภาคเหนือทำให้แต่ละส่วนของเรือนมีความหมายและสร้างสำนึกในถิ่นที่ของตัวมันเองได้อย่างลงตัว และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากท้องถิ่นอื่น

ปัจจัยทางด้านคติความเชื่อ ประเพณี เป็นสิ่งที่หยั่งรากลึกอยู่ในสังคมของคนไทยตลอดมา และยังมีผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่รวมไปถึงงานสถาปัตยกรรมจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อลักษณะเรือนพื้นถิ่นให้มีความแตกต่างกัน แม้รูปลักษณ์ภายนอกของสถาปัตยกรรมอาจมีความคล้ายคลึงกันแต่เมื่อเข้าไปใช้งานสถาปัตยกรรมที่จะต้องปรับประพฤติกรรมตามคติความเชื่อของท้องถิ่น แล้วยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกสำนึกในถิ่นที่นั้นมีความแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามในการปลูกสร้างเรือน ทิศทางการวางตัวเรือน และพื้นที่ใช้สอยภายใน ความเชื่อด้านพฤติกรรมการใช้สอยพื้นที่ รวมไปถึงความเชื่อด้านเทคนิคการปลูกสร้างเรือนที่มีรูปแบบโครงสร้างที่แตกต่างกันไป ซึ่งประเด็นความเชื่อของคนไทยดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่กลับทำให้ความรู้สึกสำนึกในถิ่นที่ในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน จึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเรือนพักอาศัยพื้นถิ่นไทย

งานสถาปัตยกรรม ถือว่าเป็นมรดกอันล้ำค่าทางด้านภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยได้เป็นอย่างดี แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสถานที่อันมีความหมายอยู่ในตัว มิใช่แค่ที่อยู่อาศัยเท่านั้น บางกรณีอาจเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา งานสถาปัตยกรรมไทยยังเป็นผลงานที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงกลิ่นอายของงานสถาปัตยกรรม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นสำนึกในถิ่นที่ ซึ่งเป็นความเฉพาะตัวของแต่ละท้องที่ที่สามารถแสดงความเป็นเอกลักษณ์ที่ผู้ใช้สอยสามารถรับรู้ได้ถึงความแตกต่างของงานสถาปัตยกรรม และความแตกต่างของสำนึกในถิ่นที่ ดังกล่าวมีปัจจัยหลักคือ ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์และปัจจัยด้านคติความเชื่อ ซึ่งสามารถส่งผลในผู้ใช้สอยอาคารเชื่อมโยงกับสถาปัตยกรรมให้มีความสอดคล้องกับปัจจัยดังกล่าว เพื่อความอยู่รอดในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อม
ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีความหลากหลายทางด้านสถาปัตยกรรมและและชีวิตความเป็นอยู่ไม่ว่าจะเป็นลักษณะอาชีพที่หลากหลาย วัสดุที่ใช้ในการปลูกสร้างเรือนที่แตกต่างกันไป นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดความแตกต่างกันของความรู้สึกสำนึกในถิ่นที่ ไม่ว่าจะเป็น กลิ่น รูปทรง สีสัน ฯลฯ อันเป็นองค์ประกอบที่เกิดจากปัจจัยดังกล่าว โดยความหลากหลายของจิตวิญญาณและความรู้สึกสำนึกในถิ่นที่นั้นทำให้งานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมีความโดดเด่นควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ทั้งรูปทรงภายนอกและความรู้สึกสำนึกในถิ่นที่

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 11 : ผลการศึกษา

สรุปผลการศึกษาลักษณะของเรือนของชาวไทยอง ในอำเภอป่าซาง และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

ลักษณะเป็นเรือนที่ยังเหลืออยู่มากพอสมควร แต่ก็มีการรื้อถอนกันไปมากแล้วเหมือนกัน เรือนแบบนี้เป็นเรือนที่แสดงถึงวิวัฒนาการของรูปแบบเรือนกาแล และถือว่าเป็นเรือนอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นเรือนที่อยู่ยุคหลังต่อจากเรือนกาแล รูปแบบของเรือนขาวไทยองมีลักษณะทางกายภาพของเรือนที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมล้านนาและไทยองเข้าด้วยกัน โดยรูปทรงภายนอกของเรือนจะเป็นลักษณะของเรือนแฝดเหมือนกับเรือนกาแล แต่จะไม่มีกาแลประดับตรงจั่วบ้าน แต่จะเป็นลักษณะของไม้แกะสลักฉลุเป็นลายเครือเถาแทน มีการประดับตกแต่งส่วนหน้าจั่วบ้านที่เชิงชายของส่วนที่เป็นหลังคาจะเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษาต่าง ๆ ตามฝีมือของช่าง แต่ส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่มีความคล้ายคลึงกัน หรือบางชิ้นมีลวดลายการแกะสลักที่เหมือนกันเลยทีเดียว มักจะเป็นเรือนของคหบดีหรือผู้ที่มีฐานะดี มีหลายรูปแบบทั้งเรือนขนาดใหญ่และเรือนขนาดเล็ก เนื่องจากสร้างในปีพุทธศักราชที่ใกล้กันมาก จึงน่าจะเป็นอิทธิพลของช่างในละแวกเดียวกัน ส่วนที่เป็น เติ๋น ของเรือนไทยองนั้นจะไม่เปิดฝาโล่งเหมือนเรือนกาแล แต่จะเป็นเพียงระเบียงของบ้านเพื่อที่จะลงบันไดเท่านั้น และส่วนใหญ่จะมีการยกพื้นเรือนตรงส่วนที่เป็นชานบ้านและห้องนอน โดยเฉพาะลักษณะฝาที่จะมีช่องเสียงหรือช่องระบายอากาศที่เรียกว่า ฝาไหล โดยจะมีการแกะสลักแบบเรียบง่ายตามแต่ฝีมือช่างแต่ละคน ระเบียบการเจาะช่องหน้าต่างที่มีลักษณะพิเศษที่พบ จะมีการเจาะช่องหน้าต่างตรงส่วนล่างของหน้าต่างอีกที่หนึ่ง เป็นหน้าต่างขนาดเล็ก และจะติดไม่ครบตามจำนวนหน้าต่าง การติดหน้าต่างขนาดเล็กข้างล่างหน้าต่างอีกที่หนึ่ง น่าจะเป็นเพียงการระบายอากาศหรือเพิ่มแสงสว่างสำหรับตัวบ้านเท่านั้น ส่วนของประตูนั้นจะเป็นลักษณะของประตูพับที่มีขนาดยาว และพับได้ด้านใดด้านหนึ่งเมื่อจะเปิดออก การขึ้นหลังคาของเรือนระนาบที่ซับซ้อน เป็นการแสดงถึงความเป็นอัจฉริยภาพของช่างพื้นบ้าน ที่รู้จักประสานประโยชน์จากความรู้และเทคนิคทางการช่าง ที่ได้รับมาจากต่างถิ่นได้อย่างสอดคล้องเหมาะสม กลมกลืนกับวิถีชีวิต ส่วนโครงสร้างของหลังคานั้น ไม่มีการตีเฝ้าเพดานเพื่อสะดวกต่อการซ่อมแซมหลังคา ฉะนั้นส่วนโครงสร้างของหลังคาจึงมีไม้ที่ตีขนาบส่วนกลาง และจะเห็นโครงสร้างของหลังคาได้อย่างชัดเจน ลักษณะของเรือนนั้นจะเป็นการตกใต้ถุนขึ้นสูง โดยมีไม้ไผ่ที่ผ่าเป็นทางยาว มาทำเป็นรั้วรอบตัวบ้านด้านล่างเพื่อที่จะใช้เลี้ยงสัตว์ หรือเก็บเครื่องมือทางการเกษตรในสมัยก่อน ส่วนของบันไดนั้นจะมีอยู่ 2 ด้านหรือด้านหน้าและด้านข้างที่ติดกับยุ้งข้าว บันไดและชานจะหลบอยู่ใต้ชายหลังตา ทอดสู่ชายด้านหลังชิดกับบริเวณห้องครัวที่จะเป็นชานโล่ง และจะมีห้องสำหรับว่างหม้อน้ำดื่ม พร้อมทั้งที่แขวนกระบวนหิ้งน้ำ ที่ต่ออยู่กับตรงส่วนที่เป็นขอบระเบียง โดยจะมีฝาปิดทึบทางด้านหลัง และจะมีหลังคาคลุม หรือเป็นไม้ปิดทึบไว้เท่านั้น ไม่เพียงแต่ตรงชานครัวเท่านั้นมีที่หิ้งน้ำ เรือนบ้างหลังยังมีหิ้งน้ำอยู่ด้านหน้าบ้านด้วยตรงส่วนที่เป็นระเบียง ซึ่งจะทำเป็นที่นั่งติดอยู่กับตัวราวระเบียงบ้าน เพื่อใช้สำหรับการต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยือน เรือนบางหลังนั้นนิยมปลูกยุ้งข้าวไว้ติดกับตัวบ้าน หรือห่างจากตัวบ้านเล็กน้อยไว้ทางด้านทิศตะวันตก


ลักษณะทางกายภาพ
การวางตัวเรือนของชาวไทยองนั้น จะหันหน้าไปทางทิศเหนือใต้เพื่อเป็นการให้เรือนได้รับแสงแดดยังความอบอุ่นแก่ตัวเรือน และเป็นการเพิ่มแสงสว่าง เนื่องจากสมัยก่อนมีอากาศที่ค่อนข้างที่จะหนาวเย็นกว่าในปัจจุบันมาก ซึ่งเรียกการวางลักษณะบ้านแนวนี้ว่า “ขวางตะวัน” ส่วนรอบ ๆ ตัวบ้านนั้น จะมีการปลูกยุ้งข้าวทางทิศตะวันตกของตัวบ้าน เรือนบางหลังจะติดอยู่กับตัวเรือน หรือ จะอยู่ห่างจากตัวบ้านเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากเพื่อให้พืชผลทางการเกษตร พ้นจากแสงแดดเป็นการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตรอีกอย่างหนึ่ง ส่วนทางด้านทิศตะวันออกของตัวเรือนนั้น จะมีบ่อน้ำอยู่ ส่วนใหญ่จะอยู่ค่อนมาทางด้านหน้าของตัวบ้าน ภายในบริเวณแต่ละหลังนั้นส่วนใหญ่จะมีพื้นที่เป็นลานดินกว้างขวาง ซึ่งภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “ข่วงบ้าน” และการแบ่งอาณาเขตของแต่ละบ้านใช้การล้อมรั้วด้วยไม่ไผ่ นำมาสานกันเป็นตาเพื่อเป็นการบอกอาณาเขตอย่างคร่าว ๆ ซึ่งจะบ่อยให้พืชผักที่กินได้ขึ้นตามธรรมชาติ เพื่อไว้เก็บทำกินกัน เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายในสมัยก่อน

ข้อเสนอแนะตามแนวคิดในการอนุรักษ์ภูมิปัญญา “เรือนไทยอง” และลดภาวะโลกร้อน


1) ควรปลูกฝังจิตสำนึก รวมถึงให้ความรู้ ความเข้าใจแก่คนพื้นถิ่นก่อน ในเรื่องของการอยู่อาศัยโดยให้สอดคล้องกับวิถีทางธรรมชาติ


2) ควรมีการถ่ายทอดความรู้ทางด้านช่างเฉพาะทาง ให้กับคนรุ่นต่อมา เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาทางด้านงานช่างศิลป์อีกด้วย


3) ควรส่งเสริมให้มีความเสมอภาค ทั้งทางฝ่ายหญิง และฝ่ายชายในการได้รับมรดก “เรือน”


4) ควรมีการปรับแนวความคิดบางประการ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

2552-10-28

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 10 : เอกลักษณ์ - คุณค่า สู่การอนุรักษ์

ลักษณะที่สามารถแสดงความเป็นแบบแผนของเรือนไทยอง แบ่งออกได้ดังนี้

1 ลักษณะทางกายภาพ

เอกลักษณ์ของเรือนไทยองนั้น สามารถแบ่งออกได้ตามรูปแบบการใช้สอย โดยเรือนไทยองเป็นเรือนที่มี 2 ห้องนอน วางตัวแนวรูปตัว L กลับหัว และตัวบ้านจะปิดตรงส่วนของชาน มีจำนวนหน้าต่างมาก และจำนวนเสาที่มากเช่นกัน และจำนวนเสาส่วนใหญ่จะเป็นจำนวนคี่ มีการสานไม้ไผ่ขัดเป็นตาปิดตรงส่วนใต้ถุนของบ้าน เพื่อใช้เป็นพื้นที่เก็บพืชผลทางการเกษตร มีบันไดอยู่ 2 ด้าน ด้านหน้าและด้านข้างของบ้าน ถ้าเป็นเรือนขนาดใหญ่จะมีการประดับตกแต่งด้วยไม้แกะสลักฉลุลายตรงส่วนของด้านหน้าของบันได และยุ้งข่าวจะติดกับตัวบ้าน หรืออยู่ห่างออกมาเล็กน้อยเท่านั้น โดยลักษณะของห้องนอนนั้น จากการที่มีการวางตัวในแนวรูปตัว L จึงน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากการวางตัวในลักษณะนี้ ช่วยให้ห้องนอนสามารถที่จะรับลมในช่วงเวลากลางคืน และการสร้างเรือนส่วนใหญ่ของชาวไทยองนั้น นิยมหันหน้าไปทางทิศเหนือและห้องนอนก็จะอยู่ทางทิศใต้ และทิศตะวันตกของตัวบ้าน ทำให้ช่วงเวลากลางคืนรับลมได้ และช่วงเวลากลางวันในส่วนที่เป็นชานก็จะได้รับแสงสว่างเช่นกัน ทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ซึ่งชาวไทยองใช้พื้นที่ข้างบนบ้านเป็นส่วนของการทำงานต่าง ๆ ของฝ่ายหญิง ในช่วงเวลากลางวัน จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องการแสงสว่าง และอุปนิสัยของชาวไทยองไม่นิยมรับแขกมากนั้น จึงนิยมที่จะใช้เวลาอยู่ด้านบนของเรือนมากกว่าด้านล่าง

คุณค่าของเรือนพื้นถิ่นไทยอง

1) เรือนพื้นถิ่นไทยองนี้ มีรูปแบบดั้งเดิมมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากเรือนพื้นถิ่นในภาคอื่น ๆ

2) ชาวยองยังคงดำเนินวิถีชีวิตในรูปแบบเดิม มีถ่ายโอนมรดกของเรือนโดยให้กับผู้หญิงโดยยึดถือตามคติความเชื่อโบราณ

3) ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ คือ ช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า เพราะมีคติความเชื่อทางด้านการส่งมอบมรดก “เรือนพื้นถิ่น”
บูรณาการภูมิปัญญาสู่การอนุรักษ์
ส่งเสริมให้คนในพื้นถิ่น เกิดความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับเรือนพื้นถิ่น และตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญ จนทำให้เกิดความรัก ความหวงแหนที่จะอนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของตนเองไว้ และสามารถดำเนินวิถีชีวิตควบคู่ไปกับสังคมปัจจุบันได้อย่างสมดุล

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 9 : ลักษณะเฉพาะของเรือนไม้ในจังหวัดลำพูน

ถึงแม้ลำพูนจะอยู่ห่างจากเชียงใหม่ไม่มาก เรือนในลำพูนก็มีลักษณะเฉพาะตัวของตนเอง เรือกาแลนั้นหาหลักฐานเกือบไม่ได้แล้ว แต่พบเรือนหลังหนึ่งที่อยู่ติดกับวัดพระธาตุหริภุญไชย ที่ประกอบขึ้นใหม่ด้วยชิ้นส่วนของเรือนกาแล เจ้าของเดิมอ้างว่าเดิมเป็นเรือนของเจ้าเมือง หลังจากการพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ไม่ใช่เรือนเจ้าเมือง ก็น่าจะเป็นของคนชั้นสูงในลำพูน เพราะการเข้าลูกฝักลานสลักประณีตฝีมือสูง สัดส่วนสวยงามอ่อนช้อยกว่าของเชียงใหม่

เรือนไม้แบบฉบับของเมืองลำพูนในอารยธรรมเรือนทรงปั้นหยานั้น จะมีลักษณะพิเศษ เน้นบันไดด้วยส่วนของปีกนกที่ยื่นออกมาคลุมคล้ายกระบังของหมวก ใช้กันอย่างกว้างขวางมาก ส่วนใหญ่พบในเมืองหรือใกล้เมือง ส่วนพวกเรือนพื้นเมืองแท้ ๆ ก็มีลักษณะตามแบบเรือนสองห้องนอน โดยทั่วไปรูปทรงเบาบางกว่าเขตจังหวัดอื่น ๆ

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 8 : การปรับตัวทางสังคม และวัฒนธรรม

โดยเหตุที่เมืองลำพูนมีลักษณะเฉพาะด้านองค์ประกอบของประชากร ซึ่งแตกต่างไปตามหัวเมืองอื่น ๆ ในล้านนา เพราะประชากรส่วนใหญาสืบเชื้อสายมาจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองยอง ราว 150 – 180 ปีมาแล้ว เป็นลักษณะการปรับตัวของคนเมืองในลำพูน จึงไม่ใช่เป็นการปรับตัว ในฐานะเป็นคนส่วนน้อยในสังคม แต่กลุ่มชาวยองกลับดำรงอยู่ในฐานะของคนส่วนใหญ่ ของสังคมชาวยองในระดับหมู่บ้าน ในเมืองลำพูนจึงยังคงรักษาลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมได้ค่อนข้างยาวนาน โดยเฉพาะวัฒนธรรมทางภาษา

ในกลุ่มผู้นำ ในระยะประมาณ 30 ปี หลังการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูน (พุทธศักราช 2348 - 2379) ฝ่ายเจ้าเจ็ดตนที่ปกครองเมืองลำพูน กับกลุ่มเจ้าเมืองยอง ได้มี ส่วนร่วมในการปกครองเมืองลำพูน และให้เกียรติยกย่องกลุ่มเจ้าเมืองยองในระดับหนึ่ง โดยมี การประนีประนอมกันในด้านอำนาจ และผลประโยชน์ เช่น ให้เจ้าเมืองยอง บุตร ภรรยา ตลอดจนขุนนาง แยกออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศตะวันออกของตัวเมืองต่างหากเป็นสัดส่วน มีการมอบหมายให้กลุ่มเจ้าเมืองยอง ทำหน้าที่เก็บภาษีและผลประโยชน์ในชุมชนชาวยอง และในขณะเดียวกันก็มีการแต่งงานระหว่างกลุ่มเจ้าเมืองและกลุ่มเจ้าเจ็ดตน จนกลายเป็นเครือญาติเดียวกัน

ขณะเดียวกันการศึกษาในระบบโรงเรียนได้ขยายเข้าสู่หมู่บ้านต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาลกลาง สังคมชาวยองในเมืองลำพูน ก็เช่นเดียวกันกับสังคมของคนกลุ่มอื่น ๆ ในล้านนา ได้ถูกกลมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมส่วนกลางมากขึ้น ในด้านการปกครองรัฐบาลกลางได้เข้ามา มีบทบาทและกำกับต่อท้องถิ่นมากยิ่งขึ้นโดยลำดับ และในขณะเดียวกันคนยองในเมืองลำพูนก็ได้ถูกนับให้เป็นพลเมืองสยามเช่นเดียวกัน

ในขณะที่สังคมของชาวยองในเมืองลำพูนได้ผสมผสานกับวัฒนธรรมส่วนกลาง จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองสยาม ชุมชนชาวยองในแถบด้านตะวันออกของเมืองลำพูนได้แก่ บ้านหลุก บ้านขาม ห้วยยาบ บ้านธิ และบริเวณที่ติดกับเขตแดนเมืองเชียงใหม่ได้ขยายและกระจายตัวออกไป พบว่าชุมชนในแถบนี้มีความหนาแน่นของประชากรเพิ่มมากขึ้น และประกอบอาชีพการเพาะปลูก และมีวัดประจำหมู่บ้าน

สำหรับสำนึกของชาวยองนั้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน ซึ่งมีลักษณะ และสาเหตุที่หลากหลายซับซ้อนตามกระแสทางสังคมทางโครงสร้างในปัจจุบัน ที่เป็นระบบรวมศูนย์อำนาจท้องถิ่นจะถูกครอบงำจากส่วนกลาง โดยเหตุนี้ ชาวยองจึงไม่ได้แยกสำนึกของตนเองแตกต่างจากคนไทยในที่อื่น ๆ แต่มีผู้คนหลายกลุ่มในเมืองลำพูนได้เริ่มหันมาพูดและสร้างสำนึกที่หลากหลายในรูปแบบของความเป็น “คนยอง” ในกระแสการให้ความสำคัญต่อท้องถิ่นในด้านวัฒนธรรม และภูมิหลังทางประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้ สังคมของชาวยองในเมืองลำพูน จึงมีการพัฒนาจากการอยู่ร่วมกันของคนกลุ่มต่าง ๆ และมีการผสมผสานกัน ที่มีคนยองเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของสังคม แต่อย่างไรก็ตาม ในโครงสร้างทางสังคมที่อำนาจและการตัดสินใจมาจากส่วนกลาง ชาวยองจึงไม่ได้แยกสำนึก ของตนเองออกไปจากคนไทยกลุ่มอื่น ๆ อย่างเด่นชัด ยกเว้นแต่มีคนยองบางส่วนได้เริ่มหันมาพูดและสร้างกระแสให้ความสำคัญต่อท้องถิ่นของตน ในด้านสังคมวัฒนธรรมและภูมิหลัง ของประวัติศาสตร์ ดังนั้นการเข้าใจถึงประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย และการตั้งถิ่นฐานของ ชาวยองในเมืองลำพูน จึงเป็นกรณีหนึ่งที่มีส่วนอย่างสำคัญ ในการอธิบายและทำความเข้าใจถึงพัฒนาการของท้องถิ่นบนพื้นฐานของความหลากหลาย การผสมผสานทางวัฒนธรรมซึ่งทำให้มองเห็นประวัติศาสตร์ของคนไทยจากแง่มุมของท้องถิ่นได้มากยิ่งขึ้น
การปรับเปลี่ยนตามพลวัตร

อดีต : สังคมของชาวยองในเมืองลำพูนมีพัฒนาการของการอยู่ร่วมกัน ของกลุ่มคนหลายเชื้อชาติ ทำให้เกิดการผสมผสานทางด้านวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนรูปแบบที่อยู่อาศัย
ปัจจุบัน : มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
1) คติความเชื่อ : หลักของการสร้างเรือน คือ เปลี่ยนจากการสร้างเรือนพื้นถิ่น หรือเรือนไทยอง โดยทำการรื้อถอน หรือดำแปลงรูแบบบ้านเรือน มาเป็นอาคารก่ออิฐโบกปูน
2) วิถีชีวิต : มีการทำการเกษตรลดน้อยลง เนื่องจากชาวยองสมัยใหม่ นิยมเข้ามาทำงาน ในเมืองตามโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้มีผู้ที่สืบสานงานทางด้านหัตถกรรม และเกษตรกรรมลดลง
3) วิธีการอนุรักษ์ : ควรส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดความรู้ทางภูมิปัญญาในการสร้างเรือนไทยอง หรือประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้คนในชุมชน หรือท้องถิ่นใกล้เคียง หันกลับมาอยู่อาศัยเรือนพื้นถิ่นให้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่อาศัยกันโดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติ โดยสามารถดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบันร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล
4) วัตถุประสงค์ในการครอบครองเรือนไทยอง ปัจจุบันนี้มีการสำรวจพบว่า วัตถุประสงค์ในการครอบครองเรือนไทยองได้ปรับเปลี่ยนไปจากเดิม คือ แต่เดิมมีเรือนไว้เพื่อให้เจ้าของได้อยู่อาศัย แต่ในปัจจุบันกลับมีกลุ่มนายทุน ไปหาซื้อเรือนไทยองจากเจ้าของ ที่ต้องการรื้อถอน หรือปรับเปลี่ยนเรือนไทยองของตนให้กลายเป็นอาคารตึกตามสมัยนิยม หลังจากนั้นกลุ่มนายทุนจึงทำการรื้อถอนเรือนไทยองดั้งเดิมที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดลำพูน และย้ายเรือนมาปลูกสร้างใหม่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะปรับให้เป็นห้องพัก หรือรีสอร์จ เพื่อใช้ในการพาณิชย์ โดยมีการปรับรูปแบบของพื้นที่ในการใช้สอย รวมไปถึงปรับรูปแบบทางสถาปัตยกรรมบางส่วน เพื่อให้ตอบรับกับสิ่งอำนวยความสะดวก และเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า เช่น มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ (Air Condition), เครื่องทำน้ำอุ่น, หรือแม้แต่ฝักบัวอาบน้ำ ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เหล่านี้ มีส่วนทำให้รูปแบบของเรือนไทยองดั้งเดิมนั้น ปรับเปลี่ยนไป และอาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของชาวไทยองได้

ซึ่งถ้าต้องการจะอนุรักษ์โดยการซื้อเรือนไทยอง และย้ายมาปลูกเพื่อทำการอยู่อาศัย โดยไม่มุ่งหวังที่จะประกอบการเชิงพาณิชย์ จะเป็นการสมควรกว่า เพราะเราไม่จำเป็นต้องปรับแต่ง หรือเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพราะการสร้างเรือนพื้นถิ่นนั้น ต้องคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศของแต่ละท้องถิ่นเป็นสำคัญ ดังนั้นเรือนพื้นถิ่นไทยองจึงมีรูปแบบของตัวเรือนที่เหมาะสมกับภาคเหนือ และเจ้าของยังสามารถช่วยอนุรักษ์เรือนพื้นถิ่นไทยองได้อีกด้วย

2552-10-27

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 7 : เรือนไทยอง 3

รอบบริเวณบ้าน

ประกอบไปด้วย นํ้าบ่อ หรือบ่อนํ้าสะอาดหน้าบ้านสำหรับบริโภคมี นํ้าถุ้ง หรือถังติดคานกระดกทำจากไม้ไผ่ ใช้สำหรับผ่อนแรงในการตักนํ้า รอบๆ บ่อเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ร่มรื่น บ่อนํ้าหลังบ้านใช้สำหรับอุปโภค ใกล้ๆ บริเวณนั้นมีต๊อมนํ้า เป็นสถานที่อาบนํ้าสำ หรับผู้หญิง มีกำแพงสี่เหลี่ยมบังสายตา ไม่มีหลังคา (ส่วนผู้ชายจะอาบนํ้าในลำคลองหรือบริเวณขอบบ่อ) ส้วมหลุม อยู่บริเวณสวนหลังบ้านห่างไกลกว่าตัวเรือนไม่น้อยกว่า 30เมตร รอบบริเวณบ้านเรือนชาวยองไม่เหมือนกับชาวไตโยนอีกประการหนึ่งคือไม่มีศาลผีปู่ย่า (หรือตายาย) เพราะชุมชนส่วนใหญ่มีวัดเป็นจุดศูนย์กลาง การกราบไหว้บรรพบุรุษจะทำที่วัดและศาลผีประจำหมู่บ้าน

ด้านสุนทรียภาพ บ้านเรือนชาวยองในอดีตจะนิยมความเรียบง่าย การฉลุลวดลาย ไม้กลึงลูกกรง และชายคาจึงปรากฏเพียงเล็กน้อย และการที่ชาวยองเป็นผู้เคารพเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจึงนิยมการตกแต่งประดับประดาวิหาร อุโบสถ หอไตร อย่างทุ่มเท เต็มไปด้วยความวิจิตรอลังการ ส่วนบ้านเรือนของครูช่าง อาจได้รับการตกแต่งพิถีพิถันพอสมควรบริเวณปิดจั่วแต่ไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับความสวยงามของส่วนตกแต่งประดับประดาหน้าจั่วของชาวไทยวนในเชียงใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์การใช้ กาแล ตามแบบลัวะ

ต่อมาในปลายสมัยรัชกาลที่ 4 และสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีการติดต่อกับชาวตะวันตกและชาวจีนจึงได้รับเอาสถาปัตยกรรมของตะวันตกและจีนเข้ามา เริ่มมีเรือนแบบ “เรือนขนมปังขิง” ที่มีการฉลุครีบหน้าจั่วแบบเพดิเมนท์มีเส้นเว้าเข้าทั้งสองข้างของหน้าจั่วกับเชิงชายอย่างละเอียด มีครีบชายคาหยาดน้ำฝนมีการประดับอาคารประเภทฉลุลวดลาย เสาที่ระเบียงเป็นไม้กลึง ลูกกรง และชายคาด้วยเครื่องมือที่เหมือนแกะจากพิมพ์ขนมปังขิง ช่างชาวยองในลำพูนได้มีการทดลองประสมประสานเอาความงามลวดลายฉลุไม้แบบพื้นถิ่นเข้าไปใช้ประดับตกแต่งเรือนของตน เช่น จั่วและป้านลม ช่องลมหน้าจั่วและช่องลม บานเกล็ด และที่สำคัญคือ สะระไน หรือส่วนประดับทางสถาปัตยกรรมที่ติดอยู่บนยอดจั่วทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทำด้วยไม้สี่เหลี่ยมหรือกลึงให้กลมตามลวดลายนิยม จั่วลวดลายฉลุไม้พัฒนามาเป็นอัตลักษณ์ประจำพื้นถิ่นในลำพูน

สะระไน สำหรับชาวบ้าน มักเป็นชิ้นไม้ขนาดเล็กแสดงถึงความเจียมตนและฐานะ ตรงข้ามกับลักษณะ สะระไน เสาธงขนาดใหญ่ บ่งบอกสถานะทางสังคมของเจ้าหลวงผู้ครองนคร

สะระไน ได้การพัฒนาต่อเนื่องเมื่อช่างชาวยองในลำพูนได้เรียนรู้การปั้นปูนด้วยแม่พิมพ์ลวดลายฉลุ พัฒนาให้สวยงามจากระบบระเบียบการก่อสร้างแบบเดิมอีกขั้นหนึ่งสุนทรียภาพของเรือนชาวยองนอกจากการใช้ สะระไน ป้านลม ช่องลมหน้าจั่วและเชิงชายช่องลม บานเกล็ดไม้ฝาไหล ที่มีความอ่อนช้อย ลื่นไหล พลิ้ว บอบบาง ของการใช้ไม้เป็นวัสดุหลักแล้ว ยังได้เกิดพัฒนาการการใช้ปูนกับเรือนซึ่งบ่งบอกถึงความต่อเนื่องในศิลปะการตกแต่งเรือนแม้ว่าวัสดุก่อสร้างจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม


อัจฉริยภาพหรือความสามารถทางด้านช่าง เกิดจากการยกย่องครูช่างของชุมชนและการทะนุบำรุงศาสนา สล่าเก๊า หรือครูช่างเหล่านี้บ่มเพาะความสามารถเฉพาะตัวทางช่างในการสร้างวัดบ้าน เรือนในหมู่บ้าน โดยการร่วมแรงร่วมใจของแรงงานผู้ชายทั้งหมู่บ้าน วิทยาการในการสร้างเรือนชาวยองที่ครูช่างถ่ายทอดนั้นแตกต่างจากชาวไตอื่น การออกแบบสัดส่วนเรือนของไตลื้อมีความอ่อนไหวพลิ้วทั้งหลังคา เดี่ยวบน เดี่ยวล่าง

หลังคาจะมีความลื่นไหลต่อเนื่องโดยสันหลังคาและมุมหลังคาเชื่อมต่อกันทำให้เกิดตะเข้สัน ตะเข้ราง กึ่งจั่วกึ่งปั้นหยา สลับซับซ้อนไปมา ลักษณะการออกแบบหลังคาแบบนี้จำเป็นต้องมีการต่อเชื่อมโครงสร้างหลายจุด ทำให้เกิดทักษะบากปากไม้และเดือย การใช้ลิ่มสอดเข้าไปที่หัวเดือย การตอกอัดลิ่ม ทำสลักยึดโครงหลังคา ไม้โครงสร้างบางครั้งวางนอนและวางตั้งสลับกันทำให้เกิดการถ่ายแรงในโครงสร้างแบบที่ไม่เคยพบในตำราใดๆ หรือกฎเกณฑ์ทางโครงสร้างใดๆ และแตกต่างจากเรือนทั่วไปในล้านนาอย่างชัดเจน

เดี่ยวบนภายในเรือนสะท้อนความสามารถทางด้านช่างในการใช้ไม้สอดขัดกลอนประตูหน้าต่าง การทำประตูฝาไหล บานเฟี้ยมกั้นห้อง บานเกล็ด ช่องฝาที่ออกแบบเพื่อเปิดทำความสะอาดพื้น และการติดมุ้งลวดเป็นหลักฐานถึงการคิดประดิษฐ์ มีให้เชิงประจักษ์มานานในเรือนชาวยองที่มีอายุกว่า70 ปี (เช่นบ้านนายวัง ใจจิตร ตำบลมะกอก) และเดี่ยวล่างใต้ถุนเรือนที่สูงโล่งเน้นประโยชน์ใช้สอย เกิดความเบาลอยตัวโปร่งโล่งและร่มรื่น

และยังเกิดวัสดุใหม่ๆสำหรับใช้ในชุมชนชาวยอง ได้แก่ ได้แก่ แผงปูนการประยุกต์ใช้วัสดุก่อสร้าง ปูน ซึ่งเริ่มแพร่หลายและยอมรับที่จะนำมาใช้กับบ้านเรือนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2430 ที่เริ่มมีชาวจีนที่เข้ามาทำการค้าขายในลำพูนเช่นที่ บ้านป่าซางและบ้านปากบ่องทำให้เกิดรูปแบบเรือนพักอาศัยแบบผสมอิทธิพลจีน ก่อสร้างบ้านเรือนแบบจีน ทำลวดลายแกะสลักและหลังคากระเบื้องรางแบบจีนมาผสมผสานกับบ้านท้องถิ่น ฝีมือช่างจีนนั้นเป็นที่ยอมรับกันว่าประณีตละเอียด มีทั้งบ้านชั้นเดียวและเรือนแถวซึ่งนิยมปลูกริมถนน เป็นบ้านไม้และปูน ยกพื้นสูงจากดินเล็กน้อยหรือแบบใต้ถุนสูง ทำฝาถังผสมฝาประกน หน้าต่างแบบจีน ส่วนตกแต่งทำแบบหล่อปูนผสมปูนขาวสำหรับติดราวระเบียง ราวบันไดมีความสวยงาม เรียบร้อยและคงทนถาวร ลวดลายที่ใช้คือ ลายเครือเถา ลายเรขาคณิต ส่วนอาคารร้านค้าเป็นอาคารตึกมีทั้งชั้นเดียวและสองชั้น ใช้เทคนิคที่ได้รับจากช่างชาวจีนและแพร่หลายในเวลาต่อมา นั่นคือการผสมหมักปูนก่อและปูนฉาบ ที่มีส่วนผสมของปูนขาว ทราย ยางจากพืชและยางจากหนังสัตว์

แม่พิมพ์กระเบื้องซีเมนต์ บ้านนายวัง ใจจิตรตำบลมะกอก ภาพ: วิฑูรย์ เหลียวรุ่งเรืองในช่วงระยะเวลาร้อยปีนี้เองช่างชาวยอง ได้พัฒนาสูตรการผสม ปูนสตาย ที่มีความแกร่งคงทน ได้จากการเผาหินปูนนำ และมาหมักเป็นเวลา 3-36เดือนทำให้ได้ปูนขาว แล้วนำปูนขาวมาผสมกับทราย วัสดุเชื่อมประสานจากธรรมชาติ (เช่นนํ้าหนังควาย นํ้าอ้อย หรือยางบง) สู่การพัฒนาเป็นซีเมนต์สำหรับการทำงานก่อสร้าง

ประดับจั่ว กระเบื้องซีเมนต์ แผงปูนระเบียง ลวดลายต่างๆในแต่ละหมู่บ้านไม่ซํ้ากัน กระเบื้องและแผงปูนสวยงามอ่อนช้อยเหล่านี้สามารถทำจากพิมพ์แล้วยกขึ้นไปประกอบในแต่ละแห่ง ปรากฏให้เห็นในพื้นที่จังหวัดลำพูนเท่านั้น โดยเฉพาะที่ตำบลหนองล่องมีเรือนติด แผงปูน สะระไน จำนวนสิบหลังที่มีสภาพดี

การศึกษาทางการช่างสมัยใหม่มีบทบาทมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 โดยมีการตั้งโรงเรียนการช่างไม้ลำพูน ทำให้การก่อสร้างในช่วงหลังมีการเปลี่ยนแปลงทางวัสดุและเทคนิคการก่อสร้าง มีการใช้คอนกรีต แสดงถึงความเป็นสากลมากขึ้น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2532 รัฐบาลมีนโยบายปิดสัมปทานป่าไม้ ทำให้ขาดแคลนไม้วัสดุก่อสร้างสำคัญ จึงมีการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ตลอดจนเทคนิคการก่อสร้างและสถาปัตยกรรมสมัยใหม่มาทดแทน เรือนชาวยองแบบเดิมจึงเสื่อมความนิยมไปและทยอยถูกรื้อถอนจนถึงปัจจุบัน

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 6 : เรือนไทยอง 2

เรือนชาวยองในยุคที่เริ่มอพยพเข้ามาราวปี พ.ศ. 2339 เป็นทั้งแบบเรือนเครื่องผูกและเรือนเครื่องสับ พัฒนาการครั้งสำคัญของเรือนมีสาเหตุจากที่ชาวไตลื้อเมืองยองอพยพเคลื่อนย้ายจากทางเหนือลงสู่ลำพูนซึ่งอยู่ในเขตร้อนชื้น เรือนเครื่องไม้ของ ชาวไตลื้อและชาวไตทั่วไปมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ในรูปแบบของเรือน บันได ร้านน้ำ หลังคา ฯลฯ รูปแบบจะแยกตามอัตลักษณะและการปรับเข้ากับสภาพพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน ตัวอย่างเช่น

ในด้านลักษณะการออกแบบเรือน เรือนกาแลของไทยวนและลัวะมีแบบแผนการออกแบบที่ตายตัว สัดส่วน จั่ว จังหวะช่วงเสามีความลงตัวชัดเจน หากเจ้าของต้องการเรือนหลังใหญ่จำเป็นต้องใช้จังหวะเดิมซํ้าๆ ก็จะได้จั่วกาแลติดกันหลายจั่วโดยมีรางรินคั่นระหว่างจั่วกาแลเหล่านั้น ตรงข้ามกับการออกแบบเรือนของไทลื้อจะมีความลื่นไหลต่อเนื่องไม่ตายตัว หากเจ้าของต้องการเรือนหลังใหญ่ จั่วไม่จำเป็นต้องออกแบบจั่วซํ้าๆ


คือจะออกแบบสันหลังคาเชื่อมต่อกันโดยไม่ยึดถือว่าบางครั้ง สันหลังคาอาจต้องขวางตะวันบ้างแม้จะขัด แย้งกับหลักเกณฑ์ เหตุผล แต่เรือนหลังนั้นจะมีความงามอ่อนช้อยขึ้น ไม่ตรงไปตรงมา แข็งกระด้างแบบเดิมๆ



การออกแบบลักษณะนี้ทำให้เกิดตะเข้สัน ตะเข้ราง กึ่งจั่ว กึ่งปั้นหยา ซึ่งเป็นลักษณะการออกแบบหลังคาที่เป็นมีลักษณะที่สอดคล้องกับจั่วแบบมนิลาที่ออกแบบอยู่ห่างไกลจากพื้นที่นี้

การออกแบบเรือนยังที่คำนึงถึงความสะอาด มีระเบียบ จัดวางที่ล้างเท้าและสวนฮี้ บริเวณบันไดหน้าก่อนขึ้นเรือน จะมี นํ้าซ่วยตีน (โอ่ง กระบวย กระบะปูนที่ล้างเท้า) สำหรับทำความสะอาดเท้าก่อนขึ้นเรือนโดยเฉพาะผู้ชายที่ทำงานจากไร่นามักที่มีเศษคราบไคล เศษฝุ่นดิน ที่ติดมาจากท้องไร่นา ต้องได้ทำความสะอาดครั้งแรกก่อนขึ้นบันได เมื่อขึ้นบันไดแล้วจะมีมี นํ้าซ่วยหน้าเป็นร้านนํ้าเป็นที่ดื่มนํ้าและที่ล้างหน้าตาก่อนเข้าชายคาเรือน เป็นการทำความสะอาดครั้งที่สองเนื่องจากนิสัยส่วนตัวของชาวยองที่รักความสะอาดและนํ้าจากการทำความสะอาดร่างกายทั้งสองครั้งนี้จะระบายไปสู่ สวนฮี้ หรือสวนไม้ดอกเล็กๆในบริเวณนั้น



บันไดทางขึ้นที่มีหลังคาคลุมต่อเนื่องเข้าถึงเรือนซึ่งมีประโยชน์ใช้สอยที่เอื้อให้กับเจ้าของบ้านช่วยไม่ให้เปียกฝน ชานเรือนที่โล่งกว้างและเป็นร่องห่างๆอยู่ด้านข้างเรือนแตกต่างไปเรือนของจากชาวไตอื่นๆที่มีชานเรือนอยู่ด้านหน้า ชานเรือนชาวยองจะเน้นประโยชน์ต่องานบ้านการเรือน

ภายในเรือนมีห้องนอนขนาดใหญ่ที่สามารถอยู่กันได้ทั้งครอบครัว พ่อแม่มักจะนอนใกล้หน้าต่างทิศตะวันออกหันหัวไปทางทิศเหนือ พื้นเรือนที่มีช่องสำหรับทำความสะอาดเรียกว่า ฮ่อมจก เป็นช่องสี่เหลี่ยมกว้างสำหรับมือลอดและล้วงได้ ช่องนี้ปรับไปใช้ประโยชน์ทางด้านอื่นๆ ได้อีก แต่จะเอื้อประโยชน์ให้เจ้าของเรือนที่เป็นหญิงมากกว่าชายที่จะใช้สอยได้ บางครั้งจะพบ หำยันต์ บนกรอบวงกบทางเข้าห้องนอน หำยันต์ ของเรือนชาวยองมีขนาดเล็กแต่ไม่พบทุกหลังเรือนกาแลทุกหลังจะมี หำยันต์ ขนาดใหญ่กว่า)
ใต้ถุนเรือนมีสัดส่วนเดี่ยวล่างที่มีความสูงมาก โดยปรกติแล้วผู้ชายไม่นิยมใช้ใต้ถุนเรือนเพราะมักจะใช้ชีวิตนอกบ้านตามไร่นาและการมุดใต้ถุนเรือนถือว่าเป็นอัปมงคล แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในบ้านเป็นส่วนมาก กอรปกับในเวลากลางวันใต้ถุนบ้านมีอุณหภูมิที่น่าสบายกว่าบนเรือน ดังนั้นเรือนชาวยองส่วนมากจะออกแบบให้ใต้ถุนสูงมากเพื่อใช้งานในช่วงกลางวัน สำหรับทอผ้าจักสานและเลี้ยงลูกหลานเป็นต้น ไม่นิยมให้วัวอยู่ใต้ถุนเรือน จะมี โฮงงัว แยกออกจากตัวเรือน

ในสถานะที่ผู้หญิงเป็นหลักในครอบครัว จึงให้ความสำคัญเรือนครัว เดิมเตาไฟของเรือนครัวอยู่ภายในห้องนอนเนื่องจากอากาศหนาวเย็น เมื่อชาวไตลื้อเมืองยองอพยพเคลื่อนย้ายลงสู่ลำพูนจึงได้แยกเตาไฟออกจากส่วนที่พักอาศัย เรือนครัวมีลักษณะเปิดโล่งเข้าถึงง่ายและมีขนาดใหญ่ มักจะมีโครงสร้างที่แข็งแรง เสาและคานขนาดใหญ่ เนื่องจากการให้ความสำคัญกับอาหารการกิน และเรือนครัวมักถูกใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ขณะการทำอาหาร เตรียมครัวทานทำบุญเลี้ยงพระ จึงต้องใช้รองรับคนจำนวนมาก บางแห่งมีการเสริมโครงสร้างในการรองรับแรงเช่น เสาสำหรับรองรับครก คานสำหรับรองรับน้ำหนักของอุปกรณ์เครื่องใช้เช่นกระด้งกระจาดที่ซ้อนชั้นกันหลายชั้น ขนาดของยุ้งข้าวสามารถบ่งบอกฐานะของผู้อยู่อาศัย เนื่องจากข้าวเปลือกถือเป็นทรัพย์สมบัติสำคัญของครัวเรือน ดังนั้นจะสังเกตได้ว่าในการวางอาคารนั้น บางครั้งชาวยองจะสร้างยุ้งข้าวติดเรือน อาจใช้ไม้กระดานวางพาดจากเรือนไปยังยุ้งข้าวโดยไม่ต้องลงจากเรือน อีกทั้งยุ้งข้าวยังแข็งแรงแน่นหนาและสามารถเข้าถึงได้จากตัวเรือนนี้ จึงสามารถใช้เก็บของมีค่าได้อีกด้วย