ไม้หมายเมืองยอง
ในตำนานเมืองยอง ได้กล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวยอง คือ “ไม้สะหลีคำ” ซึ่งเป็นการนำกิ่งโพธิ์จากพุทธคยาสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธองค์ มาปลูกไว้ทางทิศตะวันออกของเวียงยอง และกลายเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง ที่ปัจจุบันมีอายุหลายร้อยปี
ต้นโพธิ์ หรือ ไม้สะหลี นี้ นอกจากชาวยองที่ให้การเคารพ สักการะแล้ว ยังเป็นที่เคารพของผู้คนในแถบเมืองต่างๆ โดยรอบ โดยเฉพาะคนที่เกิดปีมะเส็ง จะต้องเดินทางมาถวายไม้ค้ำกิ่งโพธิ์นี้สักครั้งหนึ่งในชีวิตซึ่งน่าจะเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาจากความเชื่อในตำนานเมืองยองกล่าวว่า หากพระยาองค์ได้นำไม้ค้ำโพธิ์มาค้ำก็จะมีเดช มากนัก อีกทั้งยังสามารถปัดเป่าอุปสรรคอันตรายทั้งหลายได้ ดังกล่าวไว้ ว่า
“... อรหันตาเจ้าก็สั่งพระยาสุลังวุติ ไหว้ไม้ศรีมหาโพธิ ต้นนี้วิเศษนัก ภายหน้าบ้านเมืองก็จักร้ายจักดีนัก หากรู้จักที่ไม้มหาโพธิต้นนั้นเบ่าอย่าชาและภายหน้าพระยาตนใด ได้เสวยเมืองลูกนี้แล้ว จุ่งแปลงค้ำเล่ม ๑ มาค้ำปีและเทื่อ ก็จักมีเตชฤทธีมากนัก และครั้นบุคละคฤหัสถ์และหญิงชายทั้งหลายฝูงใดได้ค้ำและสักการบูชา อ่อนน้อมคบยำแยงดั่งอั้น อันว่าสัพพะอุปาทวะกังวลอันตรายทั้งหลายก็จักระงับกลับหายเสี้ยงชุประการเบ่าอย่าชา...”
ด้วยเหตุนี้คนยองจึงยังคงมีประเพณีนำไม้มาค้ำกิ่งสะหลี ดังความเชื่อโบราณ และเป็นประเพณีที่แสดงถึงการค้ำชูพุทธศาสนา เช่นเดียวกับความเชื่อของคนเมืองล้านนาในอดีต
เมืองยองในอดีตนั้น เป็นเมืองอิสระปกครองตนเอง มีเจ้าหลวงเมืองยองปกครองเช่นเดียวกับหัวเมืองเหนืออื่นๆ โดยทั่วไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 ทางการพม่าได้ยกเลิกระบบเจ้าฟ้าและเข้าปกครองเมืองยองและดำเนินนโยบายกลืนชาติเช่นเดียวกับเมืองอื่นๆในรัฐฉาน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวยองมีความรักความผูกพันระหว่างผู้คนสายเลือดเดียวกันแนบแน่น แม้กระทั้งชาวยองที่ได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในฝั่งไทยเองแล้วก็ตาม
ด้วยเหตุนี้คนยองจึงยังคงมีประเพณีนำไม้มาค้ำกิ่งสะหลี ดังความเชื่อโบราณ และเป็นประเพณีที่แสดงถึงการค้ำชูพุทธศาสนา เช่นเดียวกับความเชื่อของคนเมืองล้านนาในอดีต
เมืองยองในอดีตนั้น เป็นเมืองอิสระปกครองตนเอง มีเจ้าหลวงเมืองยองปกครองเช่นเดียวกับหัวเมืองเหนืออื่นๆ โดยทั่วไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 ทางการพม่าได้ยกเลิกระบบเจ้าฟ้าและเข้าปกครองเมืองยองและดำเนินนโยบายกลืนชาติเช่นเดียวกับเมืองอื่นๆในรัฐฉาน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวยองมีความรักความผูกพันระหว่างผู้คนสายเลือดเดียวกันแนบแน่น แม้กระทั้งชาวยองที่ได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในฝั่งไทยเองแล้วก็ตาม
การจัดระเบียบในการปกครองเมืองยอง จัดแบ่งตามกลุ่มบ้านต่างๆเรียกว่า “หัวสิบ” ซึ่งเทียบเท่ากับตำบลของ เมืองไทย เมืองยองมีอยู่ 6 หัวสิบ หนึ่งหัวสิบมีประมาณ10-20 หมู่บ้าน แต่ละหัวสิบมี “อุ๊กระทะ” (กำนัน) เป็นผู้ดูแลหัวสิบ มี “แก่นาย” (ผู้ใหญ่บ้าน) ปกครองหมู่บ้าน เมืองยองมีหมู่ บ้านประมาณ 77-78 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 3-4 หมื่นคน แต่ละหมู่บ้าน ก็จะมีระบบการปกครองดูแลตนเอง
สำหรับในตัวเมืองยองที่เป็นเขตเมือง มีอยู่ 8 กลุ่มบ้าน แต่ละกลุ่มบ้านเรียกว่า “ป๊อก” ซึ่งแบ่งตามศรัทธาวัดต่างๆที่อยู่ในเขตเมืองยอง เช่น
ป๊อก 1: บ้านม่อน
ป๊อก 2: ตุ้งน้ำ(จอมแจ้ง)
ป๊อก 3: เชียงยืน
ป๊อก 4: ม่อนแสน
ป๊อก 5: ม่อนน้อย
ป๊อก 6: หนองแสน
ป๊อก 7: จอมสะหลี
ป๊อก 8: หัวข่วง
คนเมืองยองเรียกตนเองว่า “ไตเมิงยอง” หากอยู่นอกเวียง (หนอกเวง=นอกเมือง) ก็จะเรียกว่า “ไตบ้านนอกนาปาง”
ที่มา : แสวง มาละแซม, ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น: คนยองย้ายแผ่นดิน (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2), (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544), หน้า 41
ทวี สว่างปัญญางกูร, (ปริวรรต) ตำนานเมืองยอง, หน้า 31.
เคารพ พินิจนาม. “เมืองยองวิถีและความแปรเปลี่ยน” ใน สืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชาวยองรากเหง้า ความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลง, เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการ เนื่องในวาระครบรอบ200 ปีแห่งการตั้งถิ่นฐานของชาวยองในลำพูนและล้านนา 11-12 กันยายน 2549 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หน้า 31.
เคารพ พินิจนาม. “เมืองยองวิถีและความแปรเปลี่ยน” ใน สืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชาวยองรากเหง้า ความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลง, เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการ เนื่องในวาระครบรอบ200 ปีแห่งการตั้งถิ่นฐานของชาวยองในลำพูนและล้านนา 11-12 กันยายน 2549 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หน้า 31.