ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงตุง (Keng Tung) อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน (Shan State) ในประเทศสหภาพพม่า (Myanmar) คนไทลื้อเมืองยองนี้ได้กระจายไปยังเขตสิบสองพันนา ในมณฑลยูนนานของจีน และในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอีกด้วย
คำว่ายอง หรือ "ญอง" มีต้นเค้าจากตำนานเมืองยอง กล่าวว่าเป็นชื่อของหญ้าชนิดหนึ่งซึ่งเคยขึ้นในบริเวณเมืองยอง ต่อมามีนายพรานจากอาฬวีนคร (เชียงรุ่ง) ได้จุดไฟเผาป่าทำให้หญ้ายองนี้ปลิวกระจายไปในอากาศ ปรากฎกลิ่นหอมกระจายไปทั่วบ้านน้อยเมืองใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับต้นกำเนิดเมืองสิบสองปันนาของชาวไทลื้อ และในตำนานไทลื้อเขียนสืบต่อกันมา
“…เมืองยองนี่เมื่อก่อนนี้เป็นหนองน้ำไว้....พระเจ้ากะสะปะ ได้เจ้า ได้มาดูโลกก็มาเห็นเมืองยองเป็นหนองน้ำไว้...พระเจ้ากะสะปะก็เอาไม้เท้ามาขีดเป็นช่อง น้ำก็แห้งก็กลายเป็นป่าแขมป่าคาว่างเปล่าไว้.ยังไม่มีคนสร้าง ครั้งนั้นจึงมีพรานป่าผู้หนึ่งลุกจากเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาเห็นเมืองยองเป็นป่าแขมป่าคาไว้ ก็เอาไฟมาจุดเผาป่าแขมป่าคานั้น ก็กวาดยกเอาแขมคา นั้นปลิวตกไปเข้ายางแลง ชื่อว่าข้าสี่แสนหม่อนม้านั้นแด่...เขาก็ติดตามเผ่ายองปลิวตกไปนั้น ก็มาตั้งเมืองที่นั้นจึงได้ชิ่อเมืองยองนั้นเพราะเหตุนั้นแด่....”
การอพยพมาล้านนาครั้งใหญ่ของชาวยอง เกิดขึ้นในช่วงสมัยพญากาวิละราวปี พ.ศ. 2348 นั้น ในตำนานเมืองยองกล่าวว่า “เจ้าจอมหง” เป็นผู้แนะนำให้พญากาวิละไปกวาดต้อนผู้คนลงมา เชื่อว่าคนยองส่วนหนึ่งยังคงมีความปรารถนาจะกลับไปใช้ชีวิตในบ้านเกิดเมืองนอนเดิมของตน แต่ไม่สามารถเป็นไปได้ ต่อมาจึงเริ่มยอมรับวัฒนธรรมและวิธีคิดแบบคนเมืองยวน (ล้านนา) และมีคติของชาวยองบ้านบวกค้าง อ.สันกำแพง จ. เชียงใหม่ ว่า “หยูบ่านใดหื้อเอาไฟบ่านหนั่น” (อยู่บ้านไหนให้ใช้ไฟบ้านนั้น)ดังปรากฏให้เห็นจากหลักฐานสนับสนุน เป็นบันทึกจารใบลานเรื่อง“เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ล้านนาไทย” พบที่วัดภูมินทร์ ต. ในเวียง อ. เมือง จ.น่าน ซึ่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ถ่ายไมโครฟิลม์ไว้ เนื้อหาที่เขียนได้สอดแทรกคติความเชื่อ วิธีคิด และปักขทึน (ปฎิทิน) แบบไทยอง หรือ ไทลื้อ (เรียกว่า ปักขทึนเหนือ) เปรียบเทียบกับแบบไทยวน (เรียกว่า ปักขทึนใต้) ไว้อย่างน่าสนใจในใบลานฉบับเดียวกัน ซึ่ง เกริก อัครชิโนเรศ ได้ปริวรรตไว้คือ
“.... เปนปักขทึนเหนือ แล สักกะ ๑๑๙๐ ตัว ปีเบิกใจ้ แล ฉลองจอมทอง เดือน๗ เพง....”และ “... อันนี้เป็นปักขทึนใต้แล สกขาด ๑๑๙๔ ตัว ปีเต่าสีแล ออก ๑๓ ค่ำ เม็งวัน ๖ ไทกดสัน เปนพระญาวันปีใหม่แล เน่าวันเดียว.....”
ซึ่งผู้ปริวรรตได้แสดงความเห็นว่า ผู้บันทึกเป็นผู้มีความรู้ตามแบบไทลื้อเดิมเอาไว้ แต่ต้านแรงเสียดทานทางวัฒนธรรมไม่ไหว จึงต้องเปลี่ยนมาบันทึกเป็นแบบล้านนาในที่สุด ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่มีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงวิธีคิดของชาวไทยอง ที่ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตผสานกับชาวไทยวน หากแต่ชาวไทยองในล้านนาก็ยังคงรักษาวิถีชีวิตประเพณี ของตนไว้ได้อีกมากซึ่งจะได้นำเสนอต่อไป
ที่มา : ทวี สว่างปัญญางกูร, (ปริวรรต) ตำนานเมืองยอง (เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม, 2527), หน้า 25, 57
จากข้อสันนิษฐานของวรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ พ่อคำกูล, หนังสือพื้นโลก (เอกสารอักษรไทลื้อ จากวัดลาหมื่น เมืองฮาย สิบสองปันนา ที่คัดลอกมาจากหนังสือของสังฆราชบ้านตาลหลวง)
บทสัมภาษณ์ คุณยายละมัย ใจปัญญา โดย เกริก อัครชิโนเรศและพระจตุพล จิตตสํวโร, “หยูบ่านใดหื้อเอาไฟบ่านหนั่น”: คุนอยองไหลปักขตืน. ในพลเมืองเหนือรายสัปดาห์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 313. หน้า 51.
เกริก อัครชิโนเรศและพระจตุพล จิตตสํวโร, “หยูบ่านใดหื้อเอาไฟบ้านหนั่น”: คุนอยองไหลปักขตืน.ในพลเมืองเหนือรายสัปดาห์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 313. หน้า 51