ในด้านลักษณะการออกแบบเรือน เรือนกาแลของไทยวนและลัวะมีแบบแผนการออกแบบที่ตายตัว สัดส่วน จั่ว จังหวะช่วงเสามีความลงตัวชัดเจน หากเจ้าของต้องการเรือนหลังใหญ่จำเป็นต้องใช้จังหวะเดิมซํ้าๆ ก็จะได้จั่วกาแลติดกันหลายจั่วโดยมีรางรินคั่นระหว่างจั่วกาแลเหล่านั้น ตรงข้ามกับการออกแบบเรือนของไทลื้อจะมีความลื่นไหลต่อเนื่องไม่ตายตัว หากเจ้าของต้องการเรือนหลังใหญ่ จั่วไม่จำเป็นต้องออกแบบจั่วซํ้าๆ
คือจะออกแบบสันหลังคาเชื่อมต่อกันโดยไม่ยึดถือว่าบางครั้ง สันหลังคาอาจต้องขวางตะวันบ้างแม้จะขัด แย้งกับหลักเกณฑ์ เหตุผล แต่เรือนหลังนั้นจะมีความงามอ่อนช้อยขึ้น ไม่ตรงไปตรงมา แข็งกระด้างแบบเดิมๆ
การออกแบบลักษณะนี้ทำให้เกิดตะเข้สัน ตะเข้ราง กึ่งจั่ว กึ่งปั้นหยา ซึ่งเป็นลักษณะการออกแบบหลังคาที่เป็นมีลักษณะที่สอดคล้องกับจั่วแบบมนิลาที่ออกแบบอยู่ห่างไกลจากพื้นที่นี้
การออกแบบเรือนยังที่คำนึงถึงความสะอาด มีระเบียบ จัดวางที่ล้างเท้าและสวนฮี้ บริเวณบันไดหน้าก่อนขึ้นเรือน จะมี นํ้าซ่วยตีน (โอ่ง กระบวย กระบะปูนที่ล้างเท้า) สำหรับทำความสะอาดเท้าก่อนขึ้นเรือนโดยเฉพาะผู้ชายที่ทำงานจากไร่นามักที่มีเศษคราบไคล เศษฝุ่นดิน ที่ติดมาจากท้องไร่นา ต้องได้ทำความสะอาดครั้งแรกก่อนขึ้นบันได เมื่อขึ้นบันไดแล้วจะมีมี นํ้าซ่วยหน้าเป็นร้านนํ้าเป็นที่ดื่มนํ้าและที่ล้างหน้าตาก่อนเข้าชายคาเรือน เป็นการทำความสะอาดครั้งที่สองเนื่องจากนิสัยส่วนตัวของชาวยองที่รักความสะอาดและนํ้าจากการทำความสะอาดร่างกายทั้งสองครั้งนี้จะระบายไปสู่ สวนฮี้ หรือสวนไม้ดอกเล็กๆในบริเวณนั้น
ภายในเรือนมีห้องนอนขนาดใหญ่ที่สามารถอยู่กันได้ทั้งครอบครัว พ่อแม่มักจะนอนใกล้หน้าต่างทิศตะวันออกหันหัวไปทางทิศเหนือ พื้นเรือนที่มีช่องสำหรับทำความสะอาดเรียกว่า ฮ่อมจก เป็นช่องสี่เหลี่ยมกว้างสำหรับมือลอดและล้วงได้ ช่องนี้ปรับไปใช้ประโยชน์ทางด้านอื่นๆ ได้อีก แต่จะเอื้อประโยชน์ให้เจ้าของเรือนที่เป็นหญิงมากกว่าชายที่จะใช้สอยได้ บางครั้งจะพบ หำยันต์ บนกรอบวงกบทางเข้าห้องนอน หำยันต์ ของเรือนชาวยองมีขนาดเล็กแต่ไม่พบทุกหลังเรือนกาแลทุกหลังจะมี หำยันต์ ขนาดใหญ่กว่า)
ในสถานะที่ผู้หญิงเป็นหลักในครอบครัว จึงให้ความสำคัญเรือนครัว เดิมเตาไฟของเรือนครัวอยู่ภายในห้องนอนเนื่องจากอากาศหนาวเย็น เมื่อชาวไตลื้อเมืองยองอพยพเคลื่อนย้ายลงสู่ลำพูนจึงได้แยกเตาไฟออกจากส่วนที่พักอาศัย เรือนครัวมีลักษณะเปิดโล่งเข้าถึงง่ายและมีขนาดใหญ่ มักจะมีโครงสร้างที่แข็งแรง เสาและคานขนาดใหญ่ เนื่องจากการให้ความสำคัญกับอาหารการกิน และเรือนครัวมักถูกใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ขณะการทำอาหาร เตรียมครัวทานทำบุญเลี้ยงพระ จึงต้องใช้รองรับคนจำนวนมาก บางแห่งมีการเสริมโครงสร้างในการรองรับแรงเช่น เสาสำหรับรองรับครก คานสำหรับรองรับน้ำหนักของอุปกรณ์เครื่องใช้เช่นกระด้งกระจาดที่ซ้อนชั้นกันหลายชั้น ขนาดของยุ้งข้าวสามารถบ่งบอกฐานะของผู้อยู่อาศัย เนื่องจากข้าวเปลือกถือเป็นทรัพย์สมบัติสำคัญของครัวเรือน ดังนั้นจะสังเกตได้ว่าในการวางอาคารนั้น บางครั้งชาวยองจะสร้างยุ้งข้าวติดเรือน อาจใช้ไม้กระดานวางพาดจากเรือนไปยังยุ้งข้าวโดยไม่ต้องลงจากเรือน อีกทั้งยุ้งข้าวยังแข็งแรงแน่นหนาและสามารถเข้าถึงได้จากตัวเรือนนี้ จึงสามารถใช้เก็บของมีค่าได้อีกด้วย