2552-10-27

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 5 : เรือนไทยอง 1

“เรือนไทยอง”

จังหวัดลำพูนเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งชุมชนเก่าแก่ที่เงียบสงบ ร่มเย็น ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบเหมาะกับเกษตรกรรม ตามลุ่มแม่น้ำปิง กวง ลี้ และทา ที่ราบลุ่มกว้างใหญ่เกิดจากตะกอนทับถมแผ่กระจายเป็นที่ราบรูปพัดที่อุดมสมบูรณ์ในเขตพื้นที่ของอำเภอเมืองลำพูน อำเภอป่าซาง และตอนเหนือของอำเภอบ้านโฮ่งจนถึงอำเภอลี้ซึ่งเป็นที่ราบสูงและภูเขา แหล่งชุมชนเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์นี้ยังเป็นที่ตั้งรกรากของกลุ่มชาวบ้านในสมัยเมืองลำพูนยุคฟื้นตัวหลังจากที่พญากาวิละได้เมืองลำพูนคืนจากพม่าสำเร็จในปี พ.ศ. 2317 และสร้างเวียงป่าซางและเวียงหนองผำเมื่อปี พ.ศ. 2325 ครั้งนั้นประกอบไปด้วยผู้คนที่ย้ายมาใหม่สมทบในพื้นที่เมืองลำพูนเป็นจำนวนมาก เพื่อทำให้สามารถสถาปนาและฟื้นฟูเมืองลำพูนและขยายตัวออกไปตั้งชุมชนในที่ต่างๆ โดยมีการกำหนดเขตในการตั้งบ้านเรือนของกลุ่มชนชาวไตโยน ไตใหญ่ ไตเขิน และไตลื้อจากเมืองยอง เชียงแขง บ้านยู้ เมืองหลวย และหัวเมืองใกล้เคียงที่ได้อพยพมา แบ่งได้สามช่วงเวลาคือ พ.ศ. 2325-2339 พ.ศ. 2339-2348 พ.ศ. 2348-2356 เรียกว่า “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” และ“ใส่บ้านซ่อมเมือง” ให้เมืองมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน มีการจัดระบบสังคมการปกครองและการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นระบบ แม้กระนั้นเมืองลำพูนก็ยังเป็นเมืองไม่ได้เพราะมีพลเมืองจำนวนน้อย และบางส่วนก็ถูกอพยพไปเติมให้เมืองเชียงใหม่เพื่อจัดตั้งนครเชียงใหม่

สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯให้ตั้งนครลำพูน โดยแบ่งพลเมืองจากลำปางและเชียงใหม่มา เพื่อให้มีจำนวนเพียงพอต่อการจัดตั้งเป็นนครลำพูนในแบบเจ้าผู้ครองนคร เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2357 โดยมีเจ้าหลวงคำฝั้นเป็นเจ้าครองนครลำพูนลำดับแรกจนกระทั่งปี พ.ศ. 2486 เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ ซึ่งเป็นเจ้าครองนครลำพูนลำดับที่ 10 ถึงแก่พิราลัยจึงถือเป็นที่สิ้นสุดการปกครองแบบเจ้าผู้ครองนครลำพูน

ในจำนวนผู้คนในสมัยเมืองลำพูนยุคฟื้นตัวนี้ ชาวไตลื้อจากเมืองยองเป็นกลุ่มหนึ่งที่รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีด้านต่างๆ มาตลอดระยะเวลากว่า 200 ปี ซึ่งอัตลักษณ์พื้นถิ่นลำพูนที่สำคัญด้านหนึ่งคือที่อยู่อาศัย จากการจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับบ้านเรือนชาวยอง โดยการสำรวจทั่วทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในจังหวัดลำพูน ของเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นและนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา พบศักยภาพที่สำคัญของจังหวัดลำพูน ทางการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ทางสถาปัตยกรรม โดยมีการพบ วัด บ้านเรือนชาวยองที่มีสภาพเดิม กระจัดกระจายอยู่ตามชุมชนเก่าแก่ของจังหวัดลำพูน ซึ่งควรค่าต่อการอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง การนำไปดำเนินการและขยายผลในระดับปฏิบัติการนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานท้องถิ่นและเจ้าของอาคารที่ศึกษา เพื่อนำประโยชน์สูงสุดให้แก่ชุมชนและจังหวัดลำพูน อัตลักษณ์เรือนชาวยองที่แตกต่างไปจากชนชาวไตอื่นๆ ในภาคเหนือได้แก่

1. อัตภาพ ลักษณะความเป็นตัวตนในแบบแผนการใช้พื้นที่และการออกแบบเรือน
2. สุนทรียภาพ ความสวยงามและลงตัวของสัดส่วนและส่วนตกแต่งประดับประดาเรือน
3. อัจฉริยภาพ ความสามารถทางด้านช่างและการประยุกต์ใช้วัสดุก่อสร้าง

อัตภาพ หรือลักษณะความเป็นตัวตนในแบบแผนการใช้พื้นที่และการออกแบบเรือน มีสาเหตุสำคัญเนื่องมาจากการเคารพเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและความภาคภูมิใจในขนบธรรมเนียม ศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ภาษา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม การอยู่อาศัย ของตนเองที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษเมืองยอง ลักษณะประเพณีพิเศษที่สำคัญประการหนึ่งคือการยกย่องให้ผู้หญิงเป็นหลักในครอบครัว การให้เกียรติ นับถือผีและให้อำนาจการตัดสินใจแก่ฝ่ายหญิง สะท้อนออกมาเด่นชัดในศาสตร์ต่างๆ รวมทั้งทางสถาปัตยกรรม การแต่งงานมักจะให้ฝ่ายชายเข้าเรือนฝ่ายหญิง ผู้หญิงจะได้รับมรดกที่สำคัญคือบ้านเรือนจากพ่อแม่ ขณะที่สถานภาพฝ่ายชายเป็นเพียงผู้อยู่อาศัย ผู้ใช้แรงงานในการทำเกษตรกรรม ผู้ชายจะได้รับการยกย่องในสังคมต่อเมื่อมีสถานะเป็นผู้นำชุมชน แคว่น พระและช่าง เพราะการบวชเรียนและการมีฝีมือในการทำงานช่างเป็นหนทางที่จะทำให้ศาสนาและศิลปวัฒนธรรมดำรงอยู่

อัตภาพแบบเน้นสิทธิสตรี สะท้อนทางกายภาพในระดับเมืองจนถึงระดับครัวเรือน กล่าวในระดับเมืองคือลักษณะการตั้งเมือง เมืองของไตลื้อจะเลือกพื้นที่ที่ลุ่มนํ้า หนองบึง มีต้นไม้เป็นศูนย์กลางเมือง ส่วนเมืองของลัวะจะเลือกพื้นที่สูงโดยอ้างอิงกับภูเขา โดยมี เสาสะก้าง เป็นเสาหลักเมือง ไตลื้อจะให้ความสำคัญต่อศิลปะ สุนทรียศาสตร์ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ส่วนลัวะจะให้ความสำคัญต่อวิทยาศาสตร์ เหตุผล มีการใช้พละกำลังอวดอ้างตน โดยจะเห็นความแตกต่างระหว่างลักษณะของเมืองที่ปรากฏ (เชียงใหม่และลำพูน) และลักษณะของบ้านเรือนในการอยู่อาศัย