สรุปผลการศึกษาลักษณะของเรือนของชาวไทยอง ในอำเภอป่าซาง และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน
ลักษณะเป็นเรือนที่ยังเหลืออยู่มากพอสมควร แต่ก็มีการรื้อถอนกันไปมากแล้วเหมือนกัน เรือนแบบนี้เป็นเรือนที่แสดงถึงวิวัฒนาการของรูปแบบเรือนกาแล และถือว่าเป็นเรือนอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นเรือนที่อยู่ยุคหลังต่อจากเรือนกาแล รูปแบบของเรือนขาวไทยองมีลักษณะทางกายภาพของเรือนที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมล้านนาและไทยองเข้าด้วยกัน โดยรูปทรงภายนอกของเรือนจะเป็นลักษณะของเรือนแฝดเหมือนกับเรือนกาแล แต่จะไม่มีกาแลประดับตรงจั่วบ้าน แต่จะเป็นลักษณะของไม้แกะสลักฉลุเป็นลายเครือเถาแทน มีการประดับตกแต่งส่วนหน้าจั่วบ้านที่เชิงชายของส่วนที่เป็นหลังคาจะเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษาต่าง ๆ ตามฝีมือของช่าง แต่ส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่มีความคล้ายคลึงกัน หรือบางชิ้นมีลวดลายการแกะสลักที่เหมือนกันเลยทีเดียว มักจะเป็นเรือนของคหบดีหรือผู้ที่มีฐานะดี มีหลายรูปแบบทั้งเรือนขนาดใหญ่และเรือนขนาดเล็ก เนื่องจากสร้างในปีพุทธศักราชที่ใกล้กันมาก จึงน่าจะเป็นอิทธิพลของช่างในละแวกเดียวกัน ส่วนที่เป็น เติ๋น ของเรือนไทยองนั้นจะไม่เปิดฝาโล่งเหมือนเรือนกาแล แต่จะเป็นเพียงระเบียงของบ้านเพื่อที่จะลงบันไดเท่านั้น และส่วนใหญ่จะมีการยกพื้นเรือนตรงส่วนที่เป็นชานบ้านและห้องนอน โดยเฉพาะลักษณะฝาที่จะมีช่องเสียงหรือช่องระบายอากาศที่เรียกว่า ฝาไหล โดยจะมีการแกะสลักแบบเรียบง่ายตามแต่ฝีมือช่างแต่ละคน ระเบียบการเจาะช่องหน้าต่างที่มีลักษณะพิเศษที่พบ จะมีการเจาะช่องหน้าต่างตรงส่วนล่างของหน้าต่างอีกที่หนึ่ง เป็นหน้าต่างขนาดเล็ก และจะติดไม่ครบตามจำนวนหน้าต่าง การติดหน้าต่างขนาดเล็กข้างล่างหน้าต่างอีกที่หนึ่ง น่าจะเป็นเพียงการระบายอากาศหรือเพิ่มแสงสว่างสำหรับตัวบ้านเท่านั้น ส่วนของประตูนั้นจะเป็นลักษณะของประตูพับที่มีขนาดยาว และพับได้ด้านใดด้านหนึ่งเมื่อจะเปิดออก การขึ้นหลังคาของเรือนระนาบที่ซับซ้อน เป็นการแสดงถึงความเป็นอัจฉริยภาพของช่างพื้นบ้าน ที่รู้จักประสานประโยชน์จากความรู้และเทคนิคทางการช่าง ที่ได้รับมาจากต่างถิ่นได้อย่างสอดคล้องเหมาะสม กลมกลืนกับวิถีชีวิต ส่วนโครงสร้างของหลังคานั้น ไม่มีการตีเฝ้าเพดานเพื่อสะดวกต่อการซ่อมแซมหลังคา ฉะนั้นส่วนโครงสร้างของหลังคาจึงมีไม้ที่ตีขนาบส่วนกลาง และจะเห็นโครงสร้างของหลังคาได้อย่างชัดเจน ลักษณะของเรือนนั้นจะเป็นการตกใต้ถุนขึ้นสูง โดยมีไม้ไผ่ที่ผ่าเป็นทางยาว มาทำเป็นรั้วรอบตัวบ้านด้านล่างเพื่อที่จะใช้เลี้ยงสัตว์ หรือเก็บเครื่องมือทางการเกษตรในสมัยก่อน ส่วนของบันไดนั้นจะมีอยู่ 2 ด้านหรือด้านหน้าและด้านข้างที่ติดกับยุ้งข้าว บันไดและชานจะหลบอยู่ใต้ชายหลังตา ทอดสู่ชายด้านหลังชิดกับบริเวณห้องครัวที่จะเป็นชานโล่ง และจะมีห้องสำหรับว่างหม้อน้ำดื่ม พร้อมทั้งที่แขวนกระบวนหิ้งน้ำ ที่ต่ออยู่กับตรงส่วนที่เป็นขอบระเบียง โดยจะมีฝาปิดทึบทางด้านหลัง และจะมีหลังคาคลุม หรือเป็นไม้ปิดทึบไว้เท่านั้น ไม่เพียงแต่ตรงชานครัวเท่านั้นมีที่หิ้งน้ำ เรือนบ้างหลังยังมีหิ้งน้ำอยู่ด้านหน้าบ้านด้วยตรงส่วนที่เป็นระเบียง ซึ่งจะทำเป็นที่นั่งติดอยู่กับตัวราวระเบียงบ้าน เพื่อใช้สำหรับการต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยือน เรือนบางหลังนั้นนิยมปลูกยุ้งข้าวไว้ติดกับตัวบ้าน หรือห่างจากตัวบ้านเล็กน้อยไว้ทางด้านทิศตะวันตก
ลักษณะทางกายภาพ
การวางตัวเรือนของชาวไทยองนั้น จะหันหน้าไปทางทิศเหนือใต้เพื่อเป็นการให้เรือนได้รับแสงแดดยังความอบอุ่นแก่ตัวเรือน และเป็นการเพิ่มแสงสว่าง เนื่องจากสมัยก่อนมีอากาศที่ค่อนข้างที่จะหนาวเย็นกว่าในปัจจุบันมาก ซึ่งเรียกการวางลักษณะบ้านแนวนี้ว่า “ขวางตะวัน” ส่วนรอบ ๆ ตัวบ้านนั้น จะมีการปลูกยุ้งข้าวทางทิศตะวันตกของตัวบ้าน เรือนบางหลังจะติดอยู่กับตัวเรือน หรือ จะอยู่ห่างจากตัวบ้านเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากเพื่อให้พืชผลทางการเกษตร พ้นจากแสงแดดเป็นการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตรอีกอย่างหนึ่ง ส่วนทางด้านทิศตะวันออกของตัวเรือนนั้น จะมีบ่อน้ำอยู่ ส่วนใหญ่จะอยู่ค่อนมาทางด้านหน้าของตัวบ้าน ภายในบริเวณแต่ละหลังนั้นส่วนใหญ่จะมีพื้นที่เป็นลานดินกว้างขวาง ซึ่งภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “ข่วงบ้าน” และการแบ่งอาณาเขตของแต่ละบ้านใช้การล้อมรั้วด้วยไม่ไผ่ นำมาสานกันเป็นตาเพื่อเป็นการบอกอาณาเขตอย่างคร่าว ๆ ซึ่งจะบ่อยให้พืชผักที่กินได้ขึ้นตามธรรมชาติ เพื่อไว้เก็บทำกินกัน เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายในสมัยก่อน
ข้อเสนอแนะตามแนวคิดในการอนุรักษ์ภูมิปัญญา “เรือนไทยอง” และลดภาวะโลกร้อน
1) ควรปลูกฝังจิตสำนึก รวมถึงให้ความรู้ ความเข้าใจแก่คนพื้นถิ่นก่อน ในเรื่องของการอยู่อาศัยโดยให้สอดคล้องกับวิถีทางธรรมชาติ
2) ควรมีการถ่ายทอดความรู้ทางด้านช่างเฉพาะทาง ให้กับคนรุ่นต่อมา เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาทางด้านงานช่างศิลป์อีกด้วย
3) ควรส่งเสริมให้มีความเสมอภาค ทั้งทางฝ่ายหญิง และฝ่ายชายในการได้รับมรดก “เรือน”
4) ควรมีการปรับแนวความคิดบางประการ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน