2552-10-28

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 10 : เอกลักษณ์ - คุณค่า สู่การอนุรักษ์

ลักษณะที่สามารถแสดงความเป็นแบบแผนของเรือนไทยอง แบ่งออกได้ดังนี้

1 ลักษณะทางกายภาพ

เอกลักษณ์ของเรือนไทยองนั้น สามารถแบ่งออกได้ตามรูปแบบการใช้สอย โดยเรือนไทยองเป็นเรือนที่มี 2 ห้องนอน วางตัวแนวรูปตัว L กลับหัว และตัวบ้านจะปิดตรงส่วนของชาน มีจำนวนหน้าต่างมาก และจำนวนเสาที่มากเช่นกัน และจำนวนเสาส่วนใหญ่จะเป็นจำนวนคี่ มีการสานไม้ไผ่ขัดเป็นตาปิดตรงส่วนใต้ถุนของบ้าน เพื่อใช้เป็นพื้นที่เก็บพืชผลทางการเกษตร มีบันไดอยู่ 2 ด้าน ด้านหน้าและด้านข้างของบ้าน ถ้าเป็นเรือนขนาดใหญ่จะมีการประดับตกแต่งด้วยไม้แกะสลักฉลุลายตรงส่วนของด้านหน้าของบันได และยุ้งข่าวจะติดกับตัวบ้าน หรืออยู่ห่างออกมาเล็กน้อยเท่านั้น โดยลักษณะของห้องนอนนั้น จากการที่มีการวางตัวในแนวรูปตัว L จึงน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากการวางตัวในลักษณะนี้ ช่วยให้ห้องนอนสามารถที่จะรับลมในช่วงเวลากลางคืน และการสร้างเรือนส่วนใหญ่ของชาวไทยองนั้น นิยมหันหน้าไปทางทิศเหนือและห้องนอนก็จะอยู่ทางทิศใต้ และทิศตะวันตกของตัวบ้าน ทำให้ช่วงเวลากลางคืนรับลมได้ และช่วงเวลากลางวันในส่วนที่เป็นชานก็จะได้รับแสงสว่างเช่นกัน ทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ซึ่งชาวไทยองใช้พื้นที่ข้างบนบ้านเป็นส่วนของการทำงานต่าง ๆ ของฝ่ายหญิง ในช่วงเวลากลางวัน จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องการแสงสว่าง และอุปนิสัยของชาวไทยองไม่นิยมรับแขกมากนั้น จึงนิยมที่จะใช้เวลาอยู่ด้านบนของเรือนมากกว่าด้านล่าง

คุณค่าของเรือนพื้นถิ่นไทยอง

1) เรือนพื้นถิ่นไทยองนี้ มีรูปแบบดั้งเดิมมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากเรือนพื้นถิ่นในภาคอื่น ๆ

2) ชาวยองยังคงดำเนินวิถีชีวิตในรูปแบบเดิม มีถ่ายโอนมรดกของเรือนโดยให้กับผู้หญิงโดยยึดถือตามคติความเชื่อโบราณ

3) ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ คือ ช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า เพราะมีคติความเชื่อทางด้านการส่งมอบมรดก “เรือนพื้นถิ่น”
บูรณาการภูมิปัญญาสู่การอนุรักษ์
ส่งเสริมให้คนในพื้นถิ่น เกิดความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับเรือนพื้นถิ่น และตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญ จนทำให้เกิดความรัก ความหวงแหนที่จะอนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของตนเองไว้ และสามารถดำเนินวิถีชีวิตควบคู่ไปกับสังคมปัจจุบันได้อย่างสมดุล