2552-10-27

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 3 : การศึกษาของชาวไทยอง

การศึกษาของชาวไทยอง อาศัยเรียนบวชเรียนตามบ้านตามวัด ใช้ตัวอักษรพื้นเมืองคล้ายอักษรชาวล้านนา ไม่นิยมเรียนหนังสือในโรงเรียน ผู้ที่มีฐานะจะได้เรียนได้รับการศึกษา ซึ่งมีโรงเรียนประจำเมืองในเมืองยอง มีการสอนภาษาพม่า เฉพาะลูกหลานคนพม่าหรือลูกหลานคนที่มีฐานะในเมือง ขณะที่หมู่บ้านในชนบทรัฐบาลพม่าส่งครู เข้าไปสอนในโรงเรียนเล็กๆตามหมู่บ้านระบบการศึกษาของพม่าก็คล้ายกับระบบการศึกษาในเมืองไทย เช่นชั้นประถมที่ 1- 4 พม่าเรียก ประถมปีที่ 1 ว่า “ปะถะมะตาน”, ประถมปีที่ 2 ว่า “ทุติยะตาน”, ประถมปีที่ 3 ว่า “ตะติยะตาน”, ประถมปีที่ 4 ว่า “สะทกทะตาน”, และชั้นมัธยม เช่น มัธยมที่ 1 เป็นชั้นที่ 5 ต่อจากประถม เรียกว่า “เบญจมะตาน เป็นต้น

ความศรัทธาในศาสนาถือว่าเป็นสิ่งสูงสุดของคนเมืองยอง คนเมืองยองชอบการทำบุญทำกุศล แต่ละปีจะส่งลูกหลานมาบวชเณรเป็นจำนวนมาก เนื่องจากต้องการให้ลูกหลานศึกษาธรรมและเรียนหนังสือทั้งตัวเมืองและหนังสือไทย ในอีกด้านหนึ่ง ก็ไม่ต้องการให้ลูกหลานถูกทางการพม่าเรียกเกณฑ์ไปเป็นลูกหาบ จึงทำให้พระเณรแต่ละวัดมีเป็นจำนวนมาก ต่อมาคนไทยองในจังหวัดลำพูนก็ได้ช่วยเหลือพี่น้องเมืองยองในการเล่าเรียน โดยมีการสนับสนุนการศึกษา นับตั้งแต่พระครูเวฬุวันพิทักษ์ วัดพระพุทธบาทตากผ้า ได้นำพระ เณรมาบวชที่วัดพระพุทธบาทตากผ้าอำเภอป่าซาง เป็นจำนวนมาก


ที่มา : บทความ “เมืองยอง”, โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่