2552-10-29

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 12 : บทสรุป

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดสำนึกในถิ่นที่
กับงานสถาปัตยกรรมไทย

ในแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรมและทัศนะคติของคนในชุมชน นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภูมิหลังทางด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ เป็นต้น จึงทำให้บุคคลในชุมชนมีความแตกต่างกัน และรวมไปถึงงานสถาปัตยกรรมยังสะท้อนถึงวิถีชีวิตของคน ในปัจจุบันงานสถาปัตยกรรมได้ถูกออกแบบให้มีความหมายและสามารถสื่อความหมายต่อผู้ใช้สอยได้มากขึ้น โดยความหมายและสำนึกในถิ่นที่กับงานสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการออกแบบเพื่อสร้างความต่อเนื่องระหว่างงานสถาปัตยกรรมกับบริบทโดยรอบ และยังรวมไปถึงการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ดังเช่น งานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในประเทศไทย ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในสังคมที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น ความแตกต่างเหล่านี้มีทั้งปัจจัยด้านภูมิศาสตร์และด้านวัฒนธรรม ซึ่งกล่าวถึงลักษณะร่วมในแต่ละภูมิภาค รวมถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างของเรือนพื้นถิ่น อันประกอบไปด้วย ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ ปัจจัยด้านคติความเชื่อและประเพณี

1. ลักษณะร่วมของเรือนไทยแต่ละภูมิภาค
เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตร หรือเขตร้อนชื้น สภาพอากาศจึงไม่มีความแตกต่างกันมากในแต่ละภูมิภาค จึงทำให้เรือนไทยพื้นถิ่นแต่ละภูมิภาคมีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้างในบางส่วนของเรือน ซึ่งความคล้ายคลึงของเรือนพื้นถิ่นนั้นประกอบไปด้วย

1.1 วัสดุที่ใช้ : ส่วนใหญ่เรือนพื้นถิ่นจะนำไม้มาเป็นวัสดุหลักในการปลูกสร้างเรือนในทุกภูมิภาค เนื่องจากไม้เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น มีความคงทนถาวรพอสมควร สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้งานได้หลากหลาย ดังนั้นจึงนิยมใช้ไม้ นอกจากไม้แล้วยังมีการนำเอาวัสดุท้องถิ่นเข้ามาเป็นองค์ประกอบของเรือน ก็แล้วแต่ว่าท้องถิ่นนั้นมีวัสดุทางธรรมชาติชนิดใด

1.2 การยกพื้นเรือน : เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคร้อนชื้นจึงมีฝนตกชุก และเกิดอุทกภัยบ่อยครั้ง ดังนั้นเรือนพื้นถิ่นส่วนใหญจึงยกพื้นสูงเพื่อเป็นการป้องกันภัยจากธรรมชาติดังกล่าว ซึ่งในแต่ละภูมิภาคนั้นจะมีลักษณะการยกพื้นเรือนที่แตกต่างกันไป ตามความเหมาะสมของวิถีชีวิตในท้องถิ่น

1.3 พื้นที่สาธารณะของเรือน : เรือนพื้นถิ่นไทยส่วนใหญ่มักมีพื้นที่สำหรับส่วนกลางของครอบครัว หรือในระดับผังก็มีพื้นที่สำหรับชุมชน เพื่อใช้เป็นพื้นที่พบปะเพื่อนบ้าน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะนิสัยของคนไทยที่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่น ยอมเสียสละพื้นที่บางส่วนของเรือนให้เป็นพื้นที่สาธารณะได้
1.4 การลำดับศักย์ความสัมพันธ์ภายในพื้นที่ : วัฒนธรรมการอยู่อาศัยของคนไทยใน สมัยโบราณนั้นมีความนอบน้อมต่อผู้ที่อาวุโสกว่า ดังนั้นวิถีชีวิตการอยู่อาศัยจึงมีขนบธรรมเนียมที่ สะท้อนให้เห็นอุปนิสัยของคนไทยด้วย การลำดับศักย์ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ที่ให้ความสำคัญแก่ผู้อาวุโสกว่า การแบ่งพื้นที่ใช้สอยก็มีการแบ่งในลักษณะเดียวกัน เช่น การแบ่งห้องนอนภายในเรือน ห้องนอนที่ใหญ่ที่สุดจะเป็นห้องนอนพ่อ-แม่ ส่วนห้องนอนลูกสาวจะอยู่ติดกับห้องนอนพ่อและแม่ เพื่อให้ดูแลได้ง่าย ส่วนลูกชายจะให้นอนในส่วนของห้องพระ หากลูกชายแต่งงาน แล้วจึงแยกตัวออกไป ดังนั้นจึงไม่มีห้องนอนสำหรับลูกชายโดยเฉพาะ นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องระหว่างการลำดับศักย์ภายในครอบครัวกับการใช้พื้นที่ภายในงาน สถาปัตยกรรม

2. ความแตกต่างของเรือนไทยแต่ละภูมิภาค

2.1 ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ เป็นที่ทราบกันดีว่างานสถาปัตยกรรมย่อมมีการออกแบบให้มีความสอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์และสภาพอากาศของท้องถิ่น งานสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นก็เช่นกัน ในแต่ละท้องถิ่นมีสภาพอากาศที่ต่างกัน จึงทำให้เกิดความแตกต่างของรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม

2.1.1 เรือนพื้นถิ่นภาคเหนือ : มีลักษณะใต้ถุนสูงโล่ง แต่มีช่องเปิดค่อนข้างเล็ก นั่นเป็นเพราะสภาพอากาศที่ค่อนข้างหนาวเย็น และแห้งแล้งในฤดูหนาว จึงต้องการการป้องกันลมหนาวที่จะพัดเข้ามาภายในตัวเรือน แต่ในบางส่วนของเรือนก็ยังคงมีฝาไหล เพื่อใช้ระบายอากาศในฤดูร้อน ที่มีความแตกต่างจากฤดูหนาวเป็นอย่างมาก ส่วนหลังคาเรือนจะมีลักษณะยื่นคลุมพื้นที่ส่วนของเรือนเป็นอย่างมากเพื่อป้องกันน้ำค้าง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับเรือนพื้นถิ่นภาคใต้ ที่ใต้ถุนเรือนก็มีการยกสูงขึ้นเนื่องจากป้องกันน้ำท่วมที่เป็นน้ำป่าในช่วงฤดูฝน และพื้นที่บริเวณใต้ถุนนี้ก็ใช้ทำกิจกรรมได้หลากหลาย ทุก ๆ ส่วนของเรือนภาคเหนือได้รับการออกแบบให้สามารถตอบรับกับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี รูปลักษณ์ภายนอกจึงมีความเฉพาะตัวที่สามารถสื่อให้เห็นถึงความเป็นภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นลวดลายที่นำมาตกแต่ง ล้วนเป็นสำนึกในถิ่นที่อันมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

2.2 ปัจจัยด้านคติความเชื่อและประเพณี การดำรงชีวิตของชาวไทยนั้นอยู่ภายใต้คติความเชื่อทั้งทางศาสนาและไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีมาคู่กันจากอินเดียเข้ามาสู่ไทย มีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งลี้ลับอยู่เหนือธรรมชาติ โดยที่ตาคนธรรมดาไม่สามารถมองเห็นได้ ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า

“ ชนชาวไทยหรือกล่าวอย่างทั่วไปไม่ว่าชนชาวไร่ ทั้งที่เจริญแล้วและยังไม่เจริญ ย่อมมีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์เป็นส่วนมาก จะแตกต่างกันในทางเปรียบเทียบ ก็มีที่ความเชื่อมาก หรือเชื่อน้อยกว่ากันเท่านั้น และความเชื่อนี้ไม่ใช่มีอยู่ในหมู่ที่เรียนกันว่าชาวบ้านเท่านั้น แม้คนที่เรียกว่า ปัญญาชนก็มีความเชื่ออยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าเดิมทีเดียวเรานับถือผี ทั้งนี้ไม่ใช่แต่เราเท่านั้นไม่ว่าจะเป็น จีน แขก ฝรั่ง หรือคนชาติใดภาษาใด ก็ถือผีเป็นสรณะด้วยกัน ตลอดจนถือของขลังศักดิ์สิทธิและโชคลางด้วย ถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ จะต่างกันระหว่างชนชาติหรือผู้ที่ถือก็มีทั้งลักษณะประณีตหรือหยาบกว่ากัน อันเป็นเรื่องปลีกย่อยเท่านั้น หาใช่ต่างกันด้วยมูลฐานแห่งความเชื่อไม่ “ ( พระยาอนุมานราชธน 2512 : 151 )
จะเห็นได้ว่าคนไทยมีความเชื่อและประเพณีมาเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่มาช้านานจึงส่งผลถึงลักษณะของเรือนพักอาศัยที่มีรูปแบบต่างๆ ตามความเชื่อ โดยในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันดังนี้

2.2.1 เรือนพื้นถิ่นภาคเหนือ : เรือนทางภาคเหนือนั้นมีคติแฝงอยู่ด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านอันทรงคุณค่า ซึ่งประเพณีการสร้างเรือนนั้นมี 2 กรณีด้วยกันคือ วัฒนธรรมประเพณีเมื่อหญิงชาย แต่งงานเป็นครอบครัวใหม่อยู่ในช่วงสร้างฐานะจะต้องปลูกเรือนไม้บั่วหรือเรือนเครื่องผูกหรือไม้ไผ่ เมื่อมีฐานะมั่นคงจึงปลูกเรือนไม้จริงภายหลัง หรืออาจซื้อเรือนเก่ามาปลูกสร้างใหม่ ส่วนกรณีที่สองคือ เรือนที่มีลูกแต่งงานและย้ายออกไปสร้างเรือนใหม่ จำนวนคนในเรือนน้อยลง ผู้เป็นเจ้าของเรือนเห็นว่าเรือนเดิมมีขนาดใหญ่เกินไป จึงรื้อเรือนแล้วนำไม้บางส่วนมาปลูกเรือนใหม่ให้มีขนาดเหมาะสมกับจำนวนสมาชิกที่ยังคงอยู่อาศัยในเรือนเดิม เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากว่าเรือนพื้นถิ่นทางภาคเหนือจะต้องไม่มีการต่อเติมเรือนอันจะทำให้ไม่เป็นศิริมงคล หากคิดในหลักโครงสร้าง แล้วพบว่ามีความสอดคล้องกันดี และคติความเชื่อที่เกี่ยวกับการปลูกเรือนแต่ดั้งเดิมมีหลายประการเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมไม้ การปลูกเรือน จนกระทั่งการกำหนดทิศทางของตัวเรือนและองค์ประกอบเรือน เพื่อความเป็นศิริมงคลของผู้อยู่อาศัย ส่วนการจัดพื้นที่ภายในเรือนก็มีการคำนึงถึงคติความเชื่อดั้งเดิมด้วย เช่นตำแหน่งของห้องนอนพ่อแม่ควรอยู่ด้านทิศตะวันออกโดยมีห้องนอนลูกอยู่ด้านทิศตะวันตก ซึ่งทุกคนจะหันหัวนอนไปทางหิ้งพระ คือทิศตะวันออก หรือทิศใต้ของเรือนเสมอ จากคติความเชื่อที่มีอยู่ในทุก ๆ จุดของเรือนพื้นถิ่นภาคเหนือทำให้แต่ละส่วนของเรือนมีความหมายและสร้างสำนึกในถิ่นที่ของตัวมันเองได้อย่างลงตัว และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากท้องถิ่นอื่น

ปัจจัยทางด้านคติความเชื่อ ประเพณี เป็นสิ่งที่หยั่งรากลึกอยู่ในสังคมของคนไทยตลอดมา และยังมีผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่รวมไปถึงงานสถาปัตยกรรมจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อลักษณะเรือนพื้นถิ่นให้มีความแตกต่างกัน แม้รูปลักษณ์ภายนอกของสถาปัตยกรรมอาจมีความคล้ายคลึงกันแต่เมื่อเข้าไปใช้งานสถาปัตยกรรมที่จะต้องปรับประพฤติกรรมตามคติความเชื่อของท้องถิ่น แล้วยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกสำนึกในถิ่นที่นั้นมีความแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามในการปลูกสร้างเรือน ทิศทางการวางตัวเรือน และพื้นที่ใช้สอยภายใน ความเชื่อด้านพฤติกรรมการใช้สอยพื้นที่ รวมไปถึงความเชื่อด้านเทคนิคการปลูกสร้างเรือนที่มีรูปแบบโครงสร้างที่แตกต่างกันไป ซึ่งประเด็นความเชื่อของคนไทยดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่กลับทำให้ความรู้สึกสำนึกในถิ่นที่ในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน จึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเรือนพักอาศัยพื้นถิ่นไทย

งานสถาปัตยกรรม ถือว่าเป็นมรดกอันล้ำค่าทางด้านภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยได้เป็นอย่างดี แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสถานที่อันมีความหมายอยู่ในตัว มิใช่แค่ที่อยู่อาศัยเท่านั้น บางกรณีอาจเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา งานสถาปัตยกรรมไทยยังเป็นผลงานที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงกลิ่นอายของงานสถาปัตยกรรม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นสำนึกในถิ่นที่ ซึ่งเป็นความเฉพาะตัวของแต่ละท้องที่ที่สามารถแสดงความเป็นเอกลักษณ์ที่ผู้ใช้สอยสามารถรับรู้ได้ถึงความแตกต่างของงานสถาปัตยกรรม และความแตกต่างของสำนึกในถิ่นที่ ดังกล่าวมีปัจจัยหลักคือ ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์และปัจจัยด้านคติความเชื่อ ซึ่งสามารถส่งผลในผู้ใช้สอยอาคารเชื่อมโยงกับสถาปัตยกรรมให้มีความสอดคล้องกับปัจจัยดังกล่าว เพื่อความอยู่รอดในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อม
ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีความหลากหลายทางด้านสถาปัตยกรรมและและชีวิตความเป็นอยู่ไม่ว่าจะเป็นลักษณะอาชีพที่หลากหลาย วัสดุที่ใช้ในการปลูกสร้างเรือนที่แตกต่างกันไป นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดความแตกต่างกันของความรู้สึกสำนึกในถิ่นที่ ไม่ว่าจะเป็น กลิ่น รูปทรง สีสัน ฯลฯ อันเป็นองค์ประกอบที่เกิดจากปัจจัยดังกล่าว โดยความหลากหลายของจิตวิญญาณและความรู้สึกสำนึกในถิ่นที่นั้นทำให้งานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมีความโดดเด่นควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ทั้งรูปทรงภายนอกและความรู้สึกสำนึกในถิ่นที่

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 11 : ผลการศึกษา

สรุปผลการศึกษาลักษณะของเรือนของชาวไทยอง ในอำเภอป่าซาง และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

ลักษณะเป็นเรือนที่ยังเหลืออยู่มากพอสมควร แต่ก็มีการรื้อถอนกันไปมากแล้วเหมือนกัน เรือนแบบนี้เป็นเรือนที่แสดงถึงวิวัฒนาการของรูปแบบเรือนกาแล และถือว่าเป็นเรือนอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นเรือนที่อยู่ยุคหลังต่อจากเรือนกาแล รูปแบบของเรือนขาวไทยองมีลักษณะทางกายภาพของเรือนที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมล้านนาและไทยองเข้าด้วยกัน โดยรูปทรงภายนอกของเรือนจะเป็นลักษณะของเรือนแฝดเหมือนกับเรือนกาแล แต่จะไม่มีกาแลประดับตรงจั่วบ้าน แต่จะเป็นลักษณะของไม้แกะสลักฉลุเป็นลายเครือเถาแทน มีการประดับตกแต่งส่วนหน้าจั่วบ้านที่เชิงชายของส่วนที่เป็นหลังคาจะเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษาต่าง ๆ ตามฝีมือของช่าง แต่ส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่มีความคล้ายคลึงกัน หรือบางชิ้นมีลวดลายการแกะสลักที่เหมือนกันเลยทีเดียว มักจะเป็นเรือนของคหบดีหรือผู้ที่มีฐานะดี มีหลายรูปแบบทั้งเรือนขนาดใหญ่และเรือนขนาดเล็ก เนื่องจากสร้างในปีพุทธศักราชที่ใกล้กันมาก จึงน่าจะเป็นอิทธิพลของช่างในละแวกเดียวกัน ส่วนที่เป็น เติ๋น ของเรือนไทยองนั้นจะไม่เปิดฝาโล่งเหมือนเรือนกาแล แต่จะเป็นเพียงระเบียงของบ้านเพื่อที่จะลงบันไดเท่านั้น และส่วนใหญ่จะมีการยกพื้นเรือนตรงส่วนที่เป็นชานบ้านและห้องนอน โดยเฉพาะลักษณะฝาที่จะมีช่องเสียงหรือช่องระบายอากาศที่เรียกว่า ฝาไหล โดยจะมีการแกะสลักแบบเรียบง่ายตามแต่ฝีมือช่างแต่ละคน ระเบียบการเจาะช่องหน้าต่างที่มีลักษณะพิเศษที่พบ จะมีการเจาะช่องหน้าต่างตรงส่วนล่างของหน้าต่างอีกที่หนึ่ง เป็นหน้าต่างขนาดเล็ก และจะติดไม่ครบตามจำนวนหน้าต่าง การติดหน้าต่างขนาดเล็กข้างล่างหน้าต่างอีกที่หนึ่ง น่าจะเป็นเพียงการระบายอากาศหรือเพิ่มแสงสว่างสำหรับตัวบ้านเท่านั้น ส่วนของประตูนั้นจะเป็นลักษณะของประตูพับที่มีขนาดยาว และพับได้ด้านใดด้านหนึ่งเมื่อจะเปิดออก การขึ้นหลังคาของเรือนระนาบที่ซับซ้อน เป็นการแสดงถึงความเป็นอัจฉริยภาพของช่างพื้นบ้าน ที่รู้จักประสานประโยชน์จากความรู้และเทคนิคทางการช่าง ที่ได้รับมาจากต่างถิ่นได้อย่างสอดคล้องเหมาะสม กลมกลืนกับวิถีชีวิต ส่วนโครงสร้างของหลังคานั้น ไม่มีการตีเฝ้าเพดานเพื่อสะดวกต่อการซ่อมแซมหลังคา ฉะนั้นส่วนโครงสร้างของหลังคาจึงมีไม้ที่ตีขนาบส่วนกลาง และจะเห็นโครงสร้างของหลังคาได้อย่างชัดเจน ลักษณะของเรือนนั้นจะเป็นการตกใต้ถุนขึ้นสูง โดยมีไม้ไผ่ที่ผ่าเป็นทางยาว มาทำเป็นรั้วรอบตัวบ้านด้านล่างเพื่อที่จะใช้เลี้ยงสัตว์ หรือเก็บเครื่องมือทางการเกษตรในสมัยก่อน ส่วนของบันไดนั้นจะมีอยู่ 2 ด้านหรือด้านหน้าและด้านข้างที่ติดกับยุ้งข้าว บันไดและชานจะหลบอยู่ใต้ชายหลังตา ทอดสู่ชายด้านหลังชิดกับบริเวณห้องครัวที่จะเป็นชานโล่ง และจะมีห้องสำหรับว่างหม้อน้ำดื่ม พร้อมทั้งที่แขวนกระบวนหิ้งน้ำ ที่ต่ออยู่กับตรงส่วนที่เป็นขอบระเบียง โดยจะมีฝาปิดทึบทางด้านหลัง และจะมีหลังคาคลุม หรือเป็นไม้ปิดทึบไว้เท่านั้น ไม่เพียงแต่ตรงชานครัวเท่านั้นมีที่หิ้งน้ำ เรือนบ้างหลังยังมีหิ้งน้ำอยู่ด้านหน้าบ้านด้วยตรงส่วนที่เป็นระเบียง ซึ่งจะทำเป็นที่นั่งติดอยู่กับตัวราวระเบียงบ้าน เพื่อใช้สำหรับการต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยือน เรือนบางหลังนั้นนิยมปลูกยุ้งข้าวไว้ติดกับตัวบ้าน หรือห่างจากตัวบ้านเล็กน้อยไว้ทางด้านทิศตะวันตก


ลักษณะทางกายภาพ
การวางตัวเรือนของชาวไทยองนั้น จะหันหน้าไปทางทิศเหนือใต้เพื่อเป็นการให้เรือนได้รับแสงแดดยังความอบอุ่นแก่ตัวเรือน และเป็นการเพิ่มแสงสว่าง เนื่องจากสมัยก่อนมีอากาศที่ค่อนข้างที่จะหนาวเย็นกว่าในปัจจุบันมาก ซึ่งเรียกการวางลักษณะบ้านแนวนี้ว่า “ขวางตะวัน” ส่วนรอบ ๆ ตัวบ้านนั้น จะมีการปลูกยุ้งข้าวทางทิศตะวันตกของตัวบ้าน เรือนบางหลังจะติดอยู่กับตัวเรือน หรือ จะอยู่ห่างจากตัวบ้านเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากเพื่อให้พืชผลทางการเกษตร พ้นจากแสงแดดเป็นการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตรอีกอย่างหนึ่ง ส่วนทางด้านทิศตะวันออกของตัวเรือนนั้น จะมีบ่อน้ำอยู่ ส่วนใหญ่จะอยู่ค่อนมาทางด้านหน้าของตัวบ้าน ภายในบริเวณแต่ละหลังนั้นส่วนใหญ่จะมีพื้นที่เป็นลานดินกว้างขวาง ซึ่งภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “ข่วงบ้าน” และการแบ่งอาณาเขตของแต่ละบ้านใช้การล้อมรั้วด้วยไม่ไผ่ นำมาสานกันเป็นตาเพื่อเป็นการบอกอาณาเขตอย่างคร่าว ๆ ซึ่งจะบ่อยให้พืชผักที่กินได้ขึ้นตามธรรมชาติ เพื่อไว้เก็บทำกินกัน เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายในสมัยก่อน

ข้อเสนอแนะตามแนวคิดในการอนุรักษ์ภูมิปัญญา “เรือนไทยอง” และลดภาวะโลกร้อน


1) ควรปลูกฝังจิตสำนึก รวมถึงให้ความรู้ ความเข้าใจแก่คนพื้นถิ่นก่อน ในเรื่องของการอยู่อาศัยโดยให้สอดคล้องกับวิถีทางธรรมชาติ


2) ควรมีการถ่ายทอดความรู้ทางด้านช่างเฉพาะทาง ให้กับคนรุ่นต่อมา เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาทางด้านงานช่างศิลป์อีกด้วย


3) ควรส่งเสริมให้มีความเสมอภาค ทั้งทางฝ่ายหญิง และฝ่ายชายในการได้รับมรดก “เรือน”


4) ควรมีการปรับแนวความคิดบางประการ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

2552-10-28

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 10 : เอกลักษณ์ - คุณค่า สู่การอนุรักษ์

ลักษณะที่สามารถแสดงความเป็นแบบแผนของเรือนไทยอง แบ่งออกได้ดังนี้

1 ลักษณะทางกายภาพ

เอกลักษณ์ของเรือนไทยองนั้น สามารถแบ่งออกได้ตามรูปแบบการใช้สอย โดยเรือนไทยองเป็นเรือนที่มี 2 ห้องนอน วางตัวแนวรูปตัว L กลับหัว และตัวบ้านจะปิดตรงส่วนของชาน มีจำนวนหน้าต่างมาก และจำนวนเสาที่มากเช่นกัน และจำนวนเสาส่วนใหญ่จะเป็นจำนวนคี่ มีการสานไม้ไผ่ขัดเป็นตาปิดตรงส่วนใต้ถุนของบ้าน เพื่อใช้เป็นพื้นที่เก็บพืชผลทางการเกษตร มีบันไดอยู่ 2 ด้าน ด้านหน้าและด้านข้างของบ้าน ถ้าเป็นเรือนขนาดใหญ่จะมีการประดับตกแต่งด้วยไม้แกะสลักฉลุลายตรงส่วนของด้านหน้าของบันได และยุ้งข่าวจะติดกับตัวบ้าน หรืออยู่ห่างออกมาเล็กน้อยเท่านั้น โดยลักษณะของห้องนอนนั้น จากการที่มีการวางตัวในแนวรูปตัว L จึงน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากการวางตัวในลักษณะนี้ ช่วยให้ห้องนอนสามารถที่จะรับลมในช่วงเวลากลางคืน และการสร้างเรือนส่วนใหญ่ของชาวไทยองนั้น นิยมหันหน้าไปทางทิศเหนือและห้องนอนก็จะอยู่ทางทิศใต้ และทิศตะวันตกของตัวบ้าน ทำให้ช่วงเวลากลางคืนรับลมได้ และช่วงเวลากลางวันในส่วนที่เป็นชานก็จะได้รับแสงสว่างเช่นกัน ทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ซึ่งชาวไทยองใช้พื้นที่ข้างบนบ้านเป็นส่วนของการทำงานต่าง ๆ ของฝ่ายหญิง ในช่วงเวลากลางวัน จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องการแสงสว่าง และอุปนิสัยของชาวไทยองไม่นิยมรับแขกมากนั้น จึงนิยมที่จะใช้เวลาอยู่ด้านบนของเรือนมากกว่าด้านล่าง

คุณค่าของเรือนพื้นถิ่นไทยอง

1) เรือนพื้นถิ่นไทยองนี้ มีรูปแบบดั้งเดิมมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากเรือนพื้นถิ่นในภาคอื่น ๆ

2) ชาวยองยังคงดำเนินวิถีชีวิตในรูปแบบเดิม มีถ่ายโอนมรดกของเรือนโดยให้กับผู้หญิงโดยยึดถือตามคติความเชื่อโบราณ

3) ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ คือ ช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า เพราะมีคติความเชื่อทางด้านการส่งมอบมรดก “เรือนพื้นถิ่น”
บูรณาการภูมิปัญญาสู่การอนุรักษ์
ส่งเสริมให้คนในพื้นถิ่น เกิดความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับเรือนพื้นถิ่น และตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญ จนทำให้เกิดความรัก ความหวงแหนที่จะอนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของตนเองไว้ และสามารถดำเนินวิถีชีวิตควบคู่ไปกับสังคมปัจจุบันได้อย่างสมดุล

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 9 : ลักษณะเฉพาะของเรือนไม้ในจังหวัดลำพูน

ถึงแม้ลำพูนจะอยู่ห่างจากเชียงใหม่ไม่มาก เรือนในลำพูนก็มีลักษณะเฉพาะตัวของตนเอง เรือกาแลนั้นหาหลักฐานเกือบไม่ได้แล้ว แต่พบเรือนหลังหนึ่งที่อยู่ติดกับวัดพระธาตุหริภุญไชย ที่ประกอบขึ้นใหม่ด้วยชิ้นส่วนของเรือนกาแล เจ้าของเดิมอ้างว่าเดิมเป็นเรือนของเจ้าเมือง หลังจากการพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ไม่ใช่เรือนเจ้าเมือง ก็น่าจะเป็นของคนชั้นสูงในลำพูน เพราะการเข้าลูกฝักลานสลักประณีตฝีมือสูง สัดส่วนสวยงามอ่อนช้อยกว่าของเชียงใหม่

เรือนไม้แบบฉบับของเมืองลำพูนในอารยธรรมเรือนทรงปั้นหยานั้น จะมีลักษณะพิเศษ เน้นบันไดด้วยส่วนของปีกนกที่ยื่นออกมาคลุมคล้ายกระบังของหมวก ใช้กันอย่างกว้างขวางมาก ส่วนใหญ่พบในเมืองหรือใกล้เมือง ส่วนพวกเรือนพื้นเมืองแท้ ๆ ก็มีลักษณะตามแบบเรือนสองห้องนอน โดยทั่วไปรูปทรงเบาบางกว่าเขตจังหวัดอื่น ๆ

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 8 : การปรับตัวทางสังคม และวัฒนธรรม

โดยเหตุที่เมืองลำพูนมีลักษณะเฉพาะด้านองค์ประกอบของประชากร ซึ่งแตกต่างไปตามหัวเมืองอื่น ๆ ในล้านนา เพราะประชากรส่วนใหญาสืบเชื้อสายมาจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองยอง ราว 150 – 180 ปีมาแล้ว เป็นลักษณะการปรับตัวของคนเมืองในลำพูน จึงไม่ใช่เป็นการปรับตัว ในฐานะเป็นคนส่วนน้อยในสังคม แต่กลุ่มชาวยองกลับดำรงอยู่ในฐานะของคนส่วนใหญ่ ของสังคมชาวยองในระดับหมู่บ้าน ในเมืองลำพูนจึงยังคงรักษาลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมได้ค่อนข้างยาวนาน โดยเฉพาะวัฒนธรรมทางภาษา

ในกลุ่มผู้นำ ในระยะประมาณ 30 ปี หลังการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูน (พุทธศักราช 2348 - 2379) ฝ่ายเจ้าเจ็ดตนที่ปกครองเมืองลำพูน กับกลุ่มเจ้าเมืองยอง ได้มี ส่วนร่วมในการปกครองเมืองลำพูน และให้เกียรติยกย่องกลุ่มเจ้าเมืองยองในระดับหนึ่ง โดยมี การประนีประนอมกันในด้านอำนาจ และผลประโยชน์ เช่น ให้เจ้าเมืองยอง บุตร ภรรยา ตลอดจนขุนนาง แยกออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศตะวันออกของตัวเมืองต่างหากเป็นสัดส่วน มีการมอบหมายให้กลุ่มเจ้าเมืองยอง ทำหน้าที่เก็บภาษีและผลประโยชน์ในชุมชนชาวยอง และในขณะเดียวกันก็มีการแต่งงานระหว่างกลุ่มเจ้าเมืองและกลุ่มเจ้าเจ็ดตน จนกลายเป็นเครือญาติเดียวกัน

ขณะเดียวกันการศึกษาในระบบโรงเรียนได้ขยายเข้าสู่หมู่บ้านต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาลกลาง สังคมชาวยองในเมืองลำพูน ก็เช่นเดียวกันกับสังคมของคนกลุ่มอื่น ๆ ในล้านนา ได้ถูกกลมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมส่วนกลางมากขึ้น ในด้านการปกครองรัฐบาลกลางได้เข้ามา มีบทบาทและกำกับต่อท้องถิ่นมากยิ่งขึ้นโดยลำดับ และในขณะเดียวกันคนยองในเมืองลำพูนก็ได้ถูกนับให้เป็นพลเมืองสยามเช่นเดียวกัน

ในขณะที่สังคมของชาวยองในเมืองลำพูนได้ผสมผสานกับวัฒนธรรมส่วนกลาง จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองสยาม ชุมชนชาวยองในแถบด้านตะวันออกของเมืองลำพูนได้แก่ บ้านหลุก บ้านขาม ห้วยยาบ บ้านธิ และบริเวณที่ติดกับเขตแดนเมืองเชียงใหม่ได้ขยายและกระจายตัวออกไป พบว่าชุมชนในแถบนี้มีความหนาแน่นของประชากรเพิ่มมากขึ้น และประกอบอาชีพการเพาะปลูก และมีวัดประจำหมู่บ้าน

สำหรับสำนึกของชาวยองนั้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน ซึ่งมีลักษณะ และสาเหตุที่หลากหลายซับซ้อนตามกระแสทางสังคมทางโครงสร้างในปัจจุบัน ที่เป็นระบบรวมศูนย์อำนาจท้องถิ่นจะถูกครอบงำจากส่วนกลาง โดยเหตุนี้ ชาวยองจึงไม่ได้แยกสำนึกของตนเองแตกต่างจากคนไทยในที่อื่น ๆ แต่มีผู้คนหลายกลุ่มในเมืองลำพูนได้เริ่มหันมาพูดและสร้างสำนึกที่หลากหลายในรูปแบบของความเป็น “คนยอง” ในกระแสการให้ความสำคัญต่อท้องถิ่นในด้านวัฒนธรรม และภูมิหลังทางประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้ สังคมของชาวยองในเมืองลำพูน จึงมีการพัฒนาจากการอยู่ร่วมกันของคนกลุ่มต่าง ๆ และมีการผสมผสานกัน ที่มีคนยองเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของสังคม แต่อย่างไรก็ตาม ในโครงสร้างทางสังคมที่อำนาจและการตัดสินใจมาจากส่วนกลาง ชาวยองจึงไม่ได้แยกสำนึก ของตนเองออกไปจากคนไทยกลุ่มอื่น ๆ อย่างเด่นชัด ยกเว้นแต่มีคนยองบางส่วนได้เริ่มหันมาพูดและสร้างกระแสให้ความสำคัญต่อท้องถิ่นของตน ในด้านสังคมวัฒนธรรมและภูมิหลัง ของประวัติศาสตร์ ดังนั้นการเข้าใจถึงประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย และการตั้งถิ่นฐานของ ชาวยองในเมืองลำพูน จึงเป็นกรณีหนึ่งที่มีส่วนอย่างสำคัญ ในการอธิบายและทำความเข้าใจถึงพัฒนาการของท้องถิ่นบนพื้นฐานของความหลากหลาย การผสมผสานทางวัฒนธรรมซึ่งทำให้มองเห็นประวัติศาสตร์ของคนไทยจากแง่มุมของท้องถิ่นได้มากยิ่งขึ้น
การปรับเปลี่ยนตามพลวัตร

อดีต : สังคมของชาวยองในเมืองลำพูนมีพัฒนาการของการอยู่ร่วมกัน ของกลุ่มคนหลายเชื้อชาติ ทำให้เกิดการผสมผสานทางด้านวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนรูปแบบที่อยู่อาศัย
ปัจจุบัน : มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
1) คติความเชื่อ : หลักของการสร้างเรือน คือ เปลี่ยนจากการสร้างเรือนพื้นถิ่น หรือเรือนไทยอง โดยทำการรื้อถอน หรือดำแปลงรูแบบบ้านเรือน มาเป็นอาคารก่ออิฐโบกปูน
2) วิถีชีวิต : มีการทำการเกษตรลดน้อยลง เนื่องจากชาวยองสมัยใหม่ นิยมเข้ามาทำงาน ในเมืองตามโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้มีผู้ที่สืบสานงานทางด้านหัตถกรรม และเกษตรกรรมลดลง
3) วิธีการอนุรักษ์ : ควรส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดความรู้ทางภูมิปัญญาในการสร้างเรือนไทยอง หรือประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้คนในชุมชน หรือท้องถิ่นใกล้เคียง หันกลับมาอยู่อาศัยเรือนพื้นถิ่นให้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่อาศัยกันโดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติ โดยสามารถดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบันร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล
4) วัตถุประสงค์ในการครอบครองเรือนไทยอง ปัจจุบันนี้มีการสำรวจพบว่า วัตถุประสงค์ในการครอบครองเรือนไทยองได้ปรับเปลี่ยนไปจากเดิม คือ แต่เดิมมีเรือนไว้เพื่อให้เจ้าของได้อยู่อาศัย แต่ในปัจจุบันกลับมีกลุ่มนายทุน ไปหาซื้อเรือนไทยองจากเจ้าของ ที่ต้องการรื้อถอน หรือปรับเปลี่ยนเรือนไทยองของตนให้กลายเป็นอาคารตึกตามสมัยนิยม หลังจากนั้นกลุ่มนายทุนจึงทำการรื้อถอนเรือนไทยองดั้งเดิมที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดลำพูน และย้ายเรือนมาปลูกสร้างใหม่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะปรับให้เป็นห้องพัก หรือรีสอร์จ เพื่อใช้ในการพาณิชย์ โดยมีการปรับรูปแบบของพื้นที่ในการใช้สอย รวมไปถึงปรับรูปแบบทางสถาปัตยกรรมบางส่วน เพื่อให้ตอบรับกับสิ่งอำนวยความสะดวก และเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า เช่น มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ (Air Condition), เครื่องทำน้ำอุ่น, หรือแม้แต่ฝักบัวอาบน้ำ ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เหล่านี้ มีส่วนทำให้รูปแบบของเรือนไทยองดั้งเดิมนั้น ปรับเปลี่ยนไป และอาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของชาวไทยองได้

ซึ่งถ้าต้องการจะอนุรักษ์โดยการซื้อเรือนไทยอง และย้ายมาปลูกเพื่อทำการอยู่อาศัย โดยไม่มุ่งหวังที่จะประกอบการเชิงพาณิชย์ จะเป็นการสมควรกว่า เพราะเราไม่จำเป็นต้องปรับแต่ง หรือเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพราะการสร้างเรือนพื้นถิ่นนั้น ต้องคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศของแต่ละท้องถิ่นเป็นสำคัญ ดังนั้นเรือนพื้นถิ่นไทยองจึงมีรูปแบบของตัวเรือนที่เหมาะสมกับภาคเหนือ และเจ้าของยังสามารถช่วยอนุรักษ์เรือนพื้นถิ่นไทยองได้อีกด้วย

2552-10-27

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 7 : เรือนไทยอง 3

รอบบริเวณบ้าน

ประกอบไปด้วย นํ้าบ่อ หรือบ่อนํ้าสะอาดหน้าบ้านสำหรับบริโภคมี นํ้าถุ้ง หรือถังติดคานกระดกทำจากไม้ไผ่ ใช้สำหรับผ่อนแรงในการตักนํ้า รอบๆ บ่อเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ร่มรื่น บ่อนํ้าหลังบ้านใช้สำหรับอุปโภค ใกล้ๆ บริเวณนั้นมีต๊อมนํ้า เป็นสถานที่อาบนํ้าสำ หรับผู้หญิง มีกำแพงสี่เหลี่ยมบังสายตา ไม่มีหลังคา (ส่วนผู้ชายจะอาบนํ้าในลำคลองหรือบริเวณขอบบ่อ) ส้วมหลุม อยู่บริเวณสวนหลังบ้านห่างไกลกว่าตัวเรือนไม่น้อยกว่า 30เมตร รอบบริเวณบ้านเรือนชาวยองไม่เหมือนกับชาวไตโยนอีกประการหนึ่งคือไม่มีศาลผีปู่ย่า (หรือตายาย) เพราะชุมชนส่วนใหญ่มีวัดเป็นจุดศูนย์กลาง การกราบไหว้บรรพบุรุษจะทำที่วัดและศาลผีประจำหมู่บ้าน

ด้านสุนทรียภาพ บ้านเรือนชาวยองในอดีตจะนิยมความเรียบง่าย การฉลุลวดลาย ไม้กลึงลูกกรง และชายคาจึงปรากฏเพียงเล็กน้อย และการที่ชาวยองเป็นผู้เคารพเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจึงนิยมการตกแต่งประดับประดาวิหาร อุโบสถ หอไตร อย่างทุ่มเท เต็มไปด้วยความวิจิตรอลังการ ส่วนบ้านเรือนของครูช่าง อาจได้รับการตกแต่งพิถีพิถันพอสมควรบริเวณปิดจั่วแต่ไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับความสวยงามของส่วนตกแต่งประดับประดาหน้าจั่วของชาวไทยวนในเชียงใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์การใช้ กาแล ตามแบบลัวะ

ต่อมาในปลายสมัยรัชกาลที่ 4 และสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีการติดต่อกับชาวตะวันตกและชาวจีนจึงได้รับเอาสถาปัตยกรรมของตะวันตกและจีนเข้ามา เริ่มมีเรือนแบบ “เรือนขนมปังขิง” ที่มีการฉลุครีบหน้าจั่วแบบเพดิเมนท์มีเส้นเว้าเข้าทั้งสองข้างของหน้าจั่วกับเชิงชายอย่างละเอียด มีครีบชายคาหยาดน้ำฝนมีการประดับอาคารประเภทฉลุลวดลาย เสาที่ระเบียงเป็นไม้กลึง ลูกกรง และชายคาด้วยเครื่องมือที่เหมือนแกะจากพิมพ์ขนมปังขิง ช่างชาวยองในลำพูนได้มีการทดลองประสมประสานเอาความงามลวดลายฉลุไม้แบบพื้นถิ่นเข้าไปใช้ประดับตกแต่งเรือนของตน เช่น จั่วและป้านลม ช่องลมหน้าจั่วและช่องลม บานเกล็ด และที่สำคัญคือ สะระไน หรือส่วนประดับทางสถาปัตยกรรมที่ติดอยู่บนยอดจั่วทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทำด้วยไม้สี่เหลี่ยมหรือกลึงให้กลมตามลวดลายนิยม จั่วลวดลายฉลุไม้พัฒนามาเป็นอัตลักษณ์ประจำพื้นถิ่นในลำพูน

สะระไน สำหรับชาวบ้าน มักเป็นชิ้นไม้ขนาดเล็กแสดงถึงความเจียมตนและฐานะ ตรงข้ามกับลักษณะ สะระไน เสาธงขนาดใหญ่ บ่งบอกสถานะทางสังคมของเจ้าหลวงผู้ครองนคร

สะระไน ได้การพัฒนาต่อเนื่องเมื่อช่างชาวยองในลำพูนได้เรียนรู้การปั้นปูนด้วยแม่พิมพ์ลวดลายฉลุ พัฒนาให้สวยงามจากระบบระเบียบการก่อสร้างแบบเดิมอีกขั้นหนึ่งสุนทรียภาพของเรือนชาวยองนอกจากการใช้ สะระไน ป้านลม ช่องลมหน้าจั่วและเชิงชายช่องลม บานเกล็ดไม้ฝาไหล ที่มีความอ่อนช้อย ลื่นไหล พลิ้ว บอบบาง ของการใช้ไม้เป็นวัสดุหลักแล้ว ยังได้เกิดพัฒนาการการใช้ปูนกับเรือนซึ่งบ่งบอกถึงความต่อเนื่องในศิลปะการตกแต่งเรือนแม้ว่าวัสดุก่อสร้างจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม


อัจฉริยภาพหรือความสามารถทางด้านช่าง เกิดจากการยกย่องครูช่างของชุมชนและการทะนุบำรุงศาสนา สล่าเก๊า หรือครูช่างเหล่านี้บ่มเพาะความสามารถเฉพาะตัวทางช่างในการสร้างวัดบ้าน เรือนในหมู่บ้าน โดยการร่วมแรงร่วมใจของแรงงานผู้ชายทั้งหมู่บ้าน วิทยาการในการสร้างเรือนชาวยองที่ครูช่างถ่ายทอดนั้นแตกต่างจากชาวไตอื่น การออกแบบสัดส่วนเรือนของไตลื้อมีความอ่อนไหวพลิ้วทั้งหลังคา เดี่ยวบน เดี่ยวล่าง

หลังคาจะมีความลื่นไหลต่อเนื่องโดยสันหลังคาและมุมหลังคาเชื่อมต่อกันทำให้เกิดตะเข้สัน ตะเข้ราง กึ่งจั่วกึ่งปั้นหยา สลับซับซ้อนไปมา ลักษณะการออกแบบหลังคาแบบนี้จำเป็นต้องมีการต่อเชื่อมโครงสร้างหลายจุด ทำให้เกิดทักษะบากปากไม้และเดือย การใช้ลิ่มสอดเข้าไปที่หัวเดือย การตอกอัดลิ่ม ทำสลักยึดโครงหลังคา ไม้โครงสร้างบางครั้งวางนอนและวางตั้งสลับกันทำให้เกิดการถ่ายแรงในโครงสร้างแบบที่ไม่เคยพบในตำราใดๆ หรือกฎเกณฑ์ทางโครงสร้างใดๆ และแตกต่างจากเรือนทั่วไปในล้านนาอย่างชัดเจน

เดี่ยวบนภายในเรือนสะท้อนความสามารถทางด้านช่างในการใช้ไม้สอดขัดกลอนประตูหน้าต่าง การทำประตูฝาไหล บานเฟี้ยมกั้นห้อง บานเกล็ด ช่องฝาที่ออกแบบเพื่อเปิดทำความสะอาดพื้น และการติดมุ้งลวดเป็นหลักฐานถึงการคิดประดิษฐ์ มีให้เชิงประจักษ์มานานในเรือนชาวยองที่มีอายุกว่า70 ปี (เช่นบ้านนายวัง ใจจิตร ตำบลมะกอก) และเดี่ยวล่างใต้ถุนเรือนที่สูงโล่งเน้นประโยชน์ใช้สอย เกิดความเบาลอยตัวโปร่งโล่งและร่มรื่น

และยังเกิดวัสดุใหม่ๆสำหรับใช้ในชุมชนชาวยอง ได้แก่ ได้แก่ แผงปูนการประยุกต์ใช้วัสดุก่อสร้าง ปูน ซึ่งเริ่มแพร่หลายและยอมรับที่จะนำมาใช้กับบ้านเรือนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2430 ที่เริ่มมีชาวจีนที่เข้ามาทำการค้าขายในลำพูนเช่นที่ บ้านป่าซางและบ้านปากบ่องทำให้เกิดรูปแบบเรือนพักอาศัยแบบผสมอิทธิพลจีน ก่อสร้างบ้านเรือนแบบจีน ทำลวดลายแกะสลักและหลังคากระเบื้องรางแบบจีนมาผสมผสานกับบ้านท้องถิ่น ฝีมือช่างจีนนั้นเป็นที่ยอมรับกันว่าประณีตละเอียด มีทั้งบ้านชั้นเดียวและเรือนแถวซึ่งนิยมปลูกริมถนน เป็นบ้านไม้และปูน ยกพื้นสูงจากดินเล็กน้อยหรือแบบใต้ถุนสูง ทำฝาถังผสมฝาประกน หน้าต่างแบบจีน ส่วนตกแต่งทำแบบหล่อปูนผสมปูนขาวสำหรับติดราวระเบียง ราวบันไดมีความสวยงาม เรียบร้อยและคงทนถาวร ลวดลายที่ใช้คือ ลายเครือเถา ลายเรขาคณิต ส่วนอาคารร้านค้าเป็นอาคารตึกมีทั้งชั้นเดียวและสองชั้น ใช้เทคนิคที่ได้รับจากช่างชาวจีนและแพร่หลายในเวลาต่อมา นั่นคือการผสมหมักปูนก่อและปูนฉาบ ที่มีส่วนผสมของปูนขาว ทราย ยางจากพืชและยางจากหนังสัตว์

แม่พิมพ์กระเบื้องซีเมนต์ บ้านนายวัง ใจจิตรตำบลมะกอก ภาพ: วิฑูรย์ เหลียวรุ่งเรืองในช่วงระยะเวลาร้อยปีนี้เองช่างชาวยอง ได้พัฒนาสูตรการผสม ปูนสตาย ที่มีความแกร่งคงทน ได้จากการเผาหินปูนนำ และมาหมักเป็นเวลา 3-36เดือนทำให้ได้ปูนขาว แล้วนำปูนขาวมาผสมกับทราย วัสดุเชื่อมประสานจากธรรมชาติ (เช่นนํ้าหนังควาย นํ้าอ้อย หรือยางบง) สู่การพัฒนาเป็นซีเมนต์สำหรับการทำงานก่อสร้าง

ประดับจั่ว กระเบื้องซีเมนต์ แผงปูนระเบียง ลวดลายต่างๆในแต่ละหมู่บ้านไม่ซํ้ากัน กระเบื้องและแผงปูนสวยงามอ่อนช้อยเหล่านี้สามารถทำจากพิมพ์แล้วยกขึ้นไปประกอบในแต่ละแห่ง ปรากฏให้เห็นในพื้นที่จังหวัดลำพูนเท่านั้น โดยเฉพาะที่ตำบลหนองล่องมีเรือนติด แผงปูน สะระไน จำนวนสิบหลังที่มีสภาพดี

การศึกษาทางการช่างสมัยใหม่มีบทบาทมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 โดยมีการตั้งโรงเรียนการช่างไม้ลำพูน ทำให้การก่อสร้างในช่วงหลังมีการเปลี่ยนแปลงทางวัสดุและเทคนิคการก่อสร้าง มีการใช้คอนกรีต แสดงถึงความเป็นสากลมากขึ้น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2532 รัฐบาลมีนโยบายปิดสัมปทานป่าไม้ ทำให้ขาดแคลนไม้วัสดุก่อสร้างสำคัญ จึงมีการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ตลอดจนเทคนิคการก่อสร้างและสถาปัตยกรรมสมัยใหม่มาทดแทน เรือนชาวยองแบบเดิมจึงเสื่อมความนิยมไปและทยอยถูกรื้อถอนจนถึงปัจจุบัน

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 6 : เรือนไทยอง 2

เรือนชาวยองในยุคที่เริ่มอพยพเข้ามาราวปี พ.ศ. 2339 เป็นทั้งแบบเรือนเครื่องผูกและเรือนเครื่องสับ พัฒนาการครั้งสำคัญของเรือนมีสาเหตุจากที่ชาวไตลื้อเมืองยองอพยพเคลื่อนย้ายจากทางเหนือลงสู่ลำพูนซึ่งอยู่ในเขตร้อนชื้น เรือนเครื่องไม้ของ ชาวไตลื้อและชาวไตทั่วไปมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ในรูปแบบของเรือน บันได ร้านน้ำ หลังคา ฯลฯ รูปแบบจะแยกตามอัตลักษณะและการปรับเข้ากับสภาพพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน ตัวอย่างเช่น

ในด้านลักษณะการออกแบบเรือน เรือนกาแลของไทยวนและลัวะมีแบบแผนการออกแบบที่ตายตัว สัดส่วน จั่ว จังหวะช่วงเสามีความลงตัวชัดเจน หากเจ้าของต้องการเรือนหลังใหญ่จำเป็นต้องใช้จังหวะเดิมซํ้าๆ ก็จะได้จั่วกาแลติดกันหลายจั่วโดยมีรางรินคั่นระหว่างจั่วกาแลเหล่านั้น ตรงข้ามกับการออกแบบเรือนของไทลื้อจะมีความลื่นไหลต่อเนื่องไม่ตายตัว หากเจ้าของต้องการเรือนหลังใหญ่ จั่วไม่จำเป็นต้องออกแบบจั่วซํ้าๆ


คือจะออกแบบสันหลังคาเชื่อมต่อกันโดยไม่ยึดถือว่าบางครั้ง สันหลังคาอาจต้องขวางตะวันบ้างแม้จะขัด แย้งกับหลักเกณฑ์ เหตุผล แต่เรือนหลังนั้นจะมีความงามอ่อนช้อยขึ้น ไม่ตรงไปตรงมา แข็งกระด้างแบบเดิมๆ



การออกแบบลักษณะนี้ทำให้เกิดตะเข้สัน ตะเข้ราง กึ่งจั่ว กึ่งปั้นหยา ซึ่งเป็นลักษณะการออกแบบหลังคาที่เป็นมีลักษณะที่สอดคล้องกับจั่วแบบมนิลาที่ออกแบบอยู่ห่างไกลจากพื้นที่นี้

การออกแบบเรือนยังที่คำนึงถึงความสะอาด มีระเบียบ จัดวางที่ล้างเท้าและสวนฮี้ บริเวณบันไดหน้าก่อนขึ้นเรือน จะมี นํ้าซ่วยตีน (โอ่ง กระบวย กระบะปูนที่ล้างเท้า) สำหรับทำความสะอาดเท้าก่อนขึ้นเรือนโดยเฉพาะผู้ชายที่ทำงานจากไร่นามักที่มีเศษคราบไคล เศษฝุ่นดิน ที่ติดมาจากท้องไร่นา ต้องได้ทำความสะอาดครั้งแรกก่อนขึ้นบันได เมื่อขึ้นบันไดแล้วจะมีมี นํ้าซ่วยหน้าเป็นร้านนํ้าเป็นที่ดื่มนํ้าและที่ล้างหน้าตาก่อนเข้าชายคาเรือน เป็นการทำความสะอาดครั้งที่สองเนื่องจากนิสัยส่วนตัวของชาวยองที่รักความสะอาดและนํ้าจากการทำความสะอาดร่างกายทั้งสองครั้งนี้จะระบายไปสู่ สวนฮี้ หรือสวนไม้ดอกเล็กๆในบริเวณนั้น



บันไดทางขึ้นที่มีหลังคาคลุมต่อเนื่องเข้าถึงเรือนซึ่งมีประโยชน์ใช้สอยที่เอื้อให้กับเจ้าของบ้านช่วยไม่ให้เปียกฝน ชานเรือนที่โล่งกว้างและเป็นร่องห่างๆอยู่ด้านข้างเรือนแตกต่างไปเรือนของจากชาวไตอื่นๆที่มีชานเรือนอยู่ด้านหน้า ชานเรือนชาวยองจะเน้นประโยชน์ต่องานบ้านการเรือน

ภายในเรือนมีห้องนอนขนาดใหญ่ที่สามารถอยู่กันได้ทั้งครอบครัว พ่อแม่มักจะนอนใกล้หน้าต่างทิศตะวันออกหันหัวไปทางทิศเหนือ พื้นเรือนที่มีช่องสำหรับทำความสะอาดเรียกว่า ฮ่อมจก เป็นช่องสี่เหลี่ยมกว้างสำหรับมือลอดและล้วงได้ ช่องนี้ปรับไปใช้ประโยชน์ทางด้านอื่นๆ ได้อีก แต่จะเอื้อประโยชน์ให้เจ้าของเรือนที่เป็นหญิงมากกว่าชายที่จะใช้สอยได้ บางครั้งจะพบ หำยันต์ บนกรอบวงกบทางเข้าห้องนอน หำยันต์ ของเรือนชาวยองมีขนาดเล็กแต่ไม่พบทุกหลังเรือนกาแลทุกหลังจะมี หำยันต์ ขนาดใหญ่กว่า)
ใต้ถุนเรือนมีสัดส่วนเดี่ยวล่างที่มีความสูงมาก โดยปรกติแล้วผู้ชายไม่นิยมใช้ใต้ถุนเรือนเพราะมักจะใช้ชีวิตนอกบ้านตามไร่นาและการมุดใต้ถุนเรือนถือว่าเป็นอัปมงคล แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในบ้านเป็นส่วนมาก กอรปกับในเวลากลางวันใต้ถุนบ้านมีอุณหภูมิที่น่าสบายกว่าบนเรือน ดังนั้นเรือนชาวยองส่วนมากจะออกแบบให้ใต้ถุนสูงมากเพื่อใช้งานในช่วงกลางวัน สำหรับทอผ้าจักสานและเลี้ยงลูกหลานเป็นต้น ไม่นิยมให้วัวอยู่ใต้ถุนเรือน จะมี โฮงงัว แยกออกจากตัวเรือน

ในสถานะที่ผู้หญิงเป็นหลักในครอบครัว จึงให้ความสำคัญเรือนครัว เดิมเตาไฟของเรือนครัวอยู่ภายในห้องนอนเนื่องจากอากาศหนาวเย็น เมื่อชาวไตลื้อเมืองยองอพยพเคลื่อนย้ายลงสู่ลำพูนจึงได้แยกเตาไฟออกจากส่วนที่พักอาศัย เรือนครัวมีลักษณะเปิดโล่งเข้าถึงง่ายและมีขนาดใหญ่ มักจะมีโครงสร้างที่แข็งแรง เสาและคานขนาดใหญ่ เนื่องจากการให้ความสำคัญกับอาหารการกิน และเรือนครัวมักถูกใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ขณะการทำอาหาร เตรียมครัวทานทำบุญเลี้ยงพระ จึงต้องใช้รองรับคนจำนวนมาก บางแห่งมีการเสริมโครงสร้างในการรองรับแรงเช่น เสาสำหรับรองรับครก คานสำหรับรองรับน้ำหนักของอุปกรณ์เครื่องใช้เช่นกระด้งกระจาดที่ซ้อนชั้นกันหลายชั้น ขนาดของยุ้งข้าวสามารถบ่งบอกฐานะของผู้อยู่อาศัย เนื่องจากข้าวเปลือกถือเป็นทรัพย์สมบัติสำคัญของครัวเรือน ดังนั้นจะสังเกตได้ว่าในการวางอาคารนั้น บางครั้งชาวยองจะสร้างยุ้งข้าวติดเรือน อาจใช้ไม้กระดานวางพาดจากเรือนไปยังยุ้งข้าวโดยไม่ต้องลงจากเรือน อีกทั้งยุ้งข้าวยังแข็งแรงแน่นหนาและสามารถเข้าถึงได้จากตัวเรือนนี้ จึงสามารถใช้เก็บของมีค่าได้อีกด้วย

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 5 : เรือนไทยอง 1

“เรือนไทยอง”

จังหวัดลำพูนเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งชุมชนเก่าแก่ที่เงียบสงบ ร่มเย็น ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบเหมาะกับเกษตรกรรม ตามลุ่มแม่น้ำปิง กวง ลี้ และทา ที่ราบลุ่มกว้างใหญ่เกิดจากตะกอนทับถมแผ่กระจายเป็นที่ราบรูปพัดที่อุดมสมบูรณ์ในเขตพื้นที่ของอำเภอเมืองลำพูน อำเภอป่าซาง และตอนเหนือของอำเภอบ้านโฮ่งจนถึงอำเภอลี้ซึ่งเป็นที่ราบสูงและภูเขา แหล่งชุมชนเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์นี้ยังเป็นที่ตั้งรกรากของกลุ่มชาวบ้านในสมัยเมืองลำพูนยุคฟื้นตัวหลังจากที่พญากาวิละได้เมืองลำพูนคืนจากพม่าสำเร็จในปี พ.ศ. 2317 และสร้างเวียงป่าซางและเวียงหนองผำเมื่อปี พ.ศ. 2325 ครั้งนั้นประกอบไปด้วยผู้คนที่ย้ายมาใหม่สมทบในพื้นที่เมืองลำพูนเป็นจำนวนมาก เพื่อทำให้สามารถสถาปนาและฟื้นฟูเมืองลำพูนและขยายตัวออกไปตั้งชุมชนในที่ต่างๆ โดยมีการกำหนดเขตในการตั้งบ้านเรือนของกลุ่มชนชาวไตโยน ไตใหญ่ ไตเขิน และไตลื้อจากเมืองยอง เชียงแขง บ้านยู้ เมืองหลวย และหัวเมืองใกล้เคียงที่ได้อพยพมา แบ่งได้สามช่วงเวลาคือ พ.ศ. 2325-2339 พ.ศ. 2339-2348 พ.ศ. 2348-2356 เรียกว่า “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” และ“ใส่บ้านซ่อมเมือง” ให้เมืองมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน มีการจัดระบบสังคมการปกครองและการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นระบบ แม้กระนั้นเมืองลำพูนก็ยังเป็นเมืองไม่ได้เพราะมีพลเมืองจำนวนน้อย และบางส่วนก็ถูกอพยพไปเติมให้เมืองเชียงใหม่เพื่อจัดตั้งนครเชียงใหม่

สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯให้ตั้งนครลำพูน โดยแบ่งพลเมืองจากลำปางและเชียงใหม่มา เพื่อให้มีจำนวนเพียงพอต่อการจัดตั้งเป็นนครลำพูนในแบบเจ้าผู้ครองนคร เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2357 โดยมีเจ้าหลวงคำฝั้นเป็นเจ้าครองนครลำพูนลำดับแรกจนกระทั่งปี พ.ศ. 2486 เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ ซึ่งเป็นเจ้าครองนครลำพูนลำดับที่ 10 ถึงแก่พิราลัยจึงถือเป็นที่สิ้นสุดการปกครองแบบเจ้าผู้ครองนครลำพูน

ในจำนวนผู้คนในสมัยเมืองลำพูนยุคฟื้นตัวนี้ ชาวไตลื้อจากเมืองยองเป็นกลุ่มหนึ่งที่รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีด้านต่างๆ มาตลอดระยะเวลากว่า 200 ปี ซึ่งอัตลักษณ์พื้นถิ่นลำพูนที่สำคัญด้านหนึ่งคือที่อยู่อาศัย จากการจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับบ้านเรือนชาวยอง โดยการสำรวจทั่วทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในจังหวัดลำพูน ของเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นและนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา พบศักยภาพที่สำคัญของจังหวัดลำพูน ทางการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ทางสถาปัตยกรรม โดยมีการพบ วัด บ้านเรือนชาวยองที่มีสภาพเดิม กระจัดกระจายอยู่ตามชุมชนเก่าแก่ของจังหวัดลำพูน ซึ่งควรค่าต่อการอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง การนำไปดำเนินการและขยายผลในระดับปฏิบัติการนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานท้องถิ่นและเจ้าของอาคารที่ศึกษา เพื่อนำประโยชน์สูงสุดให้แก่ชุมชนและจังหวัดลำพูน อัตลักษณ์เรือนชาวยองที่แตกต่างไปจากชนชาวไตอื่นๆ ในภาคเหนือได้แก่

1. อัตภาพ ลักษณะความเป็นตัวตนในแบบแผนการใช้พื้นที่และการออกแบบเรือน
2. สุนทรียภาพ ความสวยงามและลงตัวของสัดส่วนและส่วนตกแต่งประดับประดาเรือน
3. อัจฉริยภาพ ความสามารถทางด้านช่างและการประยุกต์ใช้วัสดุก่อสร้าง

อัตภาพ หรือลักษณะความเป็นตัวตนในแบบแผนการใช้พื้นที่และการออกแบบเรือน มีสาเหตุสำคัญเนื่องมาจากการเคารพเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและความภาคภูมิใจในขนบธรรมเนียม ศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ภาษา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม การอยู่อาศัย ของตนเองที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษเมืองยอง ลักษณะประเพณีพิเศษที่สำคัญประการหนึ่งคือการยกย่องให้ผู้หญิงเป็นหลักในครอบครัว การให้เกียรติ นับถือผีและให้อำนาจการตัดสินใจแก่ฝ่ายหญิง สะท้อนออกมาเด่นชัดในศาสตร์ต่างๆ รวมทั้งทางสถาปัตยกรรม การแต่งงานมักจะให้ฝ่ายชายเข้าเรือนฝ่ายหญิง ผู้หญิงจะได้รับมรดกที่สำคัญคือบ้านเรือนจากพ่อแม่ ขณะที่สถานภาพฝ่ายชายเป็นเพียงผู้อยู่อาศัย ผู้ใช้แรงงานในการทำเกษตรกรรม ผู้ชายจะได้รับการยกย่องในสังคมต่อเมื่อมีสถานะเป็นผู้นำชุมชน แคว่น พระและช่าง เพราะการบวชเรียนและการมีฝีมือในการทำงานช่างเป็นหนทางที่จะทำให้ศาสนาและศิลปวัฒนธรรมดำรงอยู่

อัตภาพแบบเน้นสิทธิสตรี สะท้อนทางกายภาพในระดับเมืองจนถึงระดับครัวเรือน กล่าวในระดับเมืองคือลักษณะการตั้งเมือง เมืองของไตลื้อจะเลือกพื้นที่ที่ลุ่มนํ้า หนองบึง มีต้นไม้เป็นศูนย์กลางเมือง ส่วนเมืองของลัวะจะเลือกพื้นที่สูงโดยอ้างอิงกับภูเขา โดยมี เสาสะก้าง เป็นเสาหลักเมือง ไตลื้อจะให้ความสำคัญต่อศิลปะ สุนทรียศาสตร์ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ส่วนลัวะจะให้ความสำคัญต่อวิทยาศาสตร์ เหตุผล มีการใช้พละกำลังอวดอ้างตน โดยจะเห็นความแตกต่างระหว่างลักษณะของเมืองที่ปรากฏ (เชียงใหม่และลำพูน) และลักษณะของบ้านเรือนในการอยู่อาศัย

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 4 : ไทยอง คือ ใคร

ไทยอง หรือ คนยอง เป็นชื่อที่ใช้เรียกกลุ่มคนไทลื้อ ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองยอง ที่มีชื่อเป็นภาษาบาลีว่า "มหิยังคนคร"คนเมืองยอง ผู้เฒ่าผู้แก่เรียกว่าว่าเมือง “เจงจ้าง” (เมืองเชียงช้าง)

ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงตุง (Keng Tung) อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน (Shan State) ในประเทศสหภาพพม่า (Myanmar) คนไทลื้อเมืองยองนี้ได้กระจายไปยังเขตสิบสองพันนา ในมณฑลยูนนานของจีน และในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอีกด้วย
สำหรับคนไทลื้อเมืองยองที่อยู่ในประเทศไทย เรียกตนเองว่า “คุนยอง”หรือที่คนไทยเรียกกันต่อมาว่า “ไทยอง” นี้ เป็นชื่อที่รู้จักกันมากขึ้นในภาคเหนือหลังจาก พ.ศ.2348 เมื่อกลุ่มไทลื้อเมืองยอง ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูน- เชียงใหม่ รวมถึงกระจายไปอยู่ในหัวเมืองต่าง ๆในล้านนา และเรียกตนเองว่า “คนยอง” มิใช่ “คนลื้อ” เพื่อแสดงถึงที่มาของบ้านเมืองเดิมของตน

คำว่ายอง หรือ "ญอง" มีต้นเค้าจากตำนานเมืองยอง กล่าวว่าเป็นชื่อของหญ้าชนิดหนึ่งซึ่งเคยขึ้นในบริเวณเมืองยอง ต่อมามีนายพรานจากอาฬวีนคร (เชียงรุ่ง) ได้จุดไฟเผาป่าทำให้หญ้ายองนี้ปลิวกระจายไปในอากาศ ปรากฎกลิ่นหอมกระจายไปทั่วบ้านน้อยเมืองใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับต้นกำเนิดเมืองสิบสองปันนาของชาวไทลื้อ และในตำนานไทลื้อเขียนสืบต่อกันมา

ได้กล่าวว่าพรานนั้นมาจากเชียงใหม่ความหมายที่สอดแทรกในตำนานเหล่านี้แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ลื้อ กลุ่มยองและไทยวนได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ

“…เมืองยองนี่เมื่อก่อนนี้เป็นหนองน้ำไว้....พระเจ้ากะสะปะ ได้เจ้า ได้มาดูโลกก็มาเห็นเมืองยองเป็นหนองน้ำไว้...พระเจ้ากะสะปะก็เอาไม้เท้ามาขีดเป็นช่อง น้ำก็แห้งก็กลายเป็นป่าแขมป่าคาว่างเปล่าไว้.ยังไม่มีคนสร้าง ครั้งนั้นจึงมีพรานป่าผู้หนึ่งลุกจากเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาเห็นเมืองยองเป็นป่าแขมป่าคาไว้ ก็เอาไฟมาจุดเผาป่าแขมป่าคานั้น ก็กวาดยกเอาแขมคา นั้นปลิวตกไปเข้ายางแลง ชื่อว่าข้าสี่แสนหม่อนม้านั้นแด่...เขาก็ติดตามเผ่ายองปลิวตกไปนั้น ก็มาตั้งเมืองที่นั้นจึงได้ชิ่อเมืองยองนั้นเพราะเหตุนั้นแด่....”

การอพยพมาล้านนาครั้งใหญ่ของชาวยอง เกิดขึ้นในช่วงสมัยพญากาวิละราวปี พ.ศ. 2348 นั้น ในตำนานเมืองยองกล่าวว่า “เจ้าจอมหง” เป็นผู้แนะนำให้พญากาวิละไปกวาดต้อนผู้คนลงมา เชื่อว่าคนยองส่วนหนึ่งยังคงมีความปรารถนาจะกลับไปใช้ชีวิตในบ้านเกิดเมืองนอนเดิมของตน แต่ไม่สามารถเป็นไปได้ ต่อมาจึงเริ่มยอมรับวัฒนธรรมและวิธีคิดแบบคนเมืองยวน (ล้านนา) และมีคติของชาวยองบ้านบวกค้าง อ.สันกำแพง จ. เชียงใหม่ ว่า “หยูบ่านใดหื้อเอาไฟบ่านหนั่น” (อยู่บ้านไหนให้ใช้ไฟบ้านนั้น)ดังปรากฏให้เห็นจากหลักฐานสนับสนุน เป็นบันทึกจารใบลานเรื่อง“เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ล้านนาไทย” พบที่วัดภูมินทร์ ต. ในเวียง อ. เมือง จ.น่าน ซึ่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ถ่ายไมโครฟิลม์ไว้ เนื้อหาที่เขียนได้สอดแทรกคติความเชื่อ วิธีคิด และปักขทึน (ปฎิทิน) แบบไทยอง หรือ ไทลื้อ (เรียกว่า ปักขทึนเหนือ) เปรียบเทียบกับแบบไทยวน (เรียกว่า ปักขทึนใต้) ไว้อย่างน่าสนใจในใบลานฉบับเดียวกัน ซึ่ง เกริก อัครชิโนเรศ ได้ปริวรรตไว้คือ

“.... เปนปักขทึนเหนือ แล สักกะ ๑๑๙๐ ตัว ปีเบิกใจ้ แล ฉลองจอมทอง เดือน๗ เพง....”และ “... อันนี้เป็นปักขทึนใต้แล สกขาด ๑๑๙๔ ตัว ปีเต่าสีแล ออก ๑๓ ค่ำ เม็งวัน ๖ ไทกดสัน เปนพระญาวันปีใหม่แล เน่าวันเดียว.....”

ซึ่งผู้ปริวรรตได้แสดงความเห็นว่า ผู้บันทึกเป็นผู้มีความรู้ตามแบบไทลื้อเดิมเอาไว้ แต่ต้านแรงเสียดทานทางวัฒนธรรมไม่ไหว จึงต้องเปลี่ยนมาบันทึกเป็นแบบล้านนาในที่สุด ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่มีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงวิธีคิดของชาวไทยอง ที่ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตผสานกับชาวไทยวน หากแต่ชาวไทยองในล้านนาก็ยังคงรักษาวิถีชีวิตประเพณี ของตนไว้ได้อีกมากซึ่งจะได้นำเสนอต่อไป

ที่มา : ทวี สว่างปัญญางกูร, (ปริวรรต) ตำนานเมืองยอง (เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม, 2527), หน้า 25, 57
จากข้อสันนิษฐานของวรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ พ่อคำกูล, หนังสือพื้นโลก (เอกสารอักษรไทลื้อ จากวัดลาหมื่น เมืองฮาย สิบสองปันนา ที่คัดลอกมาจากหนังสือของสังฆราชบ้านตาลหลวง)

บทสัมภาษณ์ คุณยายละมัย ใจปัญญา โดย เกริก อัครชิโนเรศและพระจตุพล จิตตสํวโร, “หยูบ่านใดหื้อเอาไฟบ่านหนั่น”: คุนอยองไหลปักขตืน. ในพลเมืองเหนือรายสัปดาห์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 313. หน้า 51.

เกริก อัครชิโนเรศและพระจตุพล จิตตสํวโร, “หยูบ่านใดหื้อเอาไฟบ้านหนั่น”: คุนอยองไหลปักขตืน.ในพลเมืองเหนือรายสัปดาห์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 313. หน้า 51

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 3 : การศึกษาของชาวไทยอง

การศึกษาของชาวไทยอง อาศัยเรียนบวชเรียนตามบ้านตามวัด ใช้ตัวอักษรพื้นเมืองคล้ายอักษรชาวล้านนา ไม่นิยมเรียนหนังสือในโรงเรียน ผู้ที่มีฐานะจะได้เรียนได้รับการศึกษา ซึ่งมีโรงเรียนประจำเมืองในเมืองยอง มีการสอนภาษาพม่า เฉพาะลูกหลานคนพม่าหรือลูกหลานคนที่มีฐานะในเมือง ขณะที่หมู่บ้านในชนบทรัฐบาลพม่าส่งครู เข้าไปสอนในโรงเรียนเล็กๆตามหมู่บ้านระบบการศึกษาของพม่าก็คล้ายกับระบบการศึกษาในเมืองไทย เช่นชั้นประถมที่ 1- 4 พม่าเรียก ประถมปีที่ 1 ว่า “ปะถะมะตาน”, ประถมปีที่ 2 ว่า “ทุติยะตาน”, ประถมปีที่ 3 ว่า “ตะติยะตาน”, ประถมปีที่ 4 ว่า “สะทกทะตาน”, และชั้นมัธยม เช่น มัธยมที่ 1 เป็นชั้นที่ 5 ต่อจากประถม เรียกว่า “เบญจมะตาน เป็นต้น

ความศรัทธาในศาสนาถือว่าเป็นสิ่งสูงสุดของคนเมืองยอง คนเมืองยองชอบการทำบุญทำกุศล แต่ละปีจะส่งลูกหลานมาบวชเณรเป็นจำนวนมาก เนื่องจากต้องการให้ลูกหลานศึกษาธรรมและเรียนหนังสือทั้งตัวเมืองและหนังสือไทย ในอีกด้านหนึ่ง ก็ไม่ต้องการให้ลูกหลานถูกทางการพม่าเรียกเกณฑ์ไปเป็นลูกหาบ จึงทำให้พระเณรแต่ละวัดมีเป็นจำนวนมาก ต่อมาคนไทยองในจังหวัดลำพูนก็ได้ช่วยเหลือพี่น้องเมืองยองในการเล่าเรียน โดยมีการสนับสนุนการศึกษา นับตั้งแต่พระครูเวฬุวันพิทักษ์ วัดพระพุทธบาทตากผ้า ได้นำพระ เณรมาบวชที่วัดพระพุทธบาทตากผ้าอำเภอป่าซาง เป็นจำนวนมาก


ที่มา : บทความ “เมืองยอง”, โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 2 : ไม้หมายเมืองยอง

ไม้หมายเมืองยอง
ในตำนานเมืองยอง ได้กล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวยอง คือ “ไม้สะหลีคำ” ซึ่งเป็นการนำกิ่งโพธิ์จากพุทธคยาสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธองค์ มาปลูกไว้ทางทิศตะวันออกของเวียงยอง และกลายเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง ที่ปัจจุบันมีอายุหลายร้อยปี
ต้นโพธิ์ หรือ ไม้สะหลี นี้ นอกจากชาวยองที่ให้การเคารพ สักการะแล้ว ยังเป็นที่เคารพของผู้คนในแถบเมืองต่างๆ โดยรอบ โดยเฉพาะคนที่เกิดปีมะเส็ง จะต้องเดินทางมาถวายไม้ค้ำกิ่งโพธิ์นี้สักครั้งหนึ่งในชีวิตซึ่งน่าจะเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาจากความเชื่อในตำนานเมืองยองกล่าวว่า หากพระยาองค์ได้นำไม้ค้ำโพธิ์มาค้ำก็จะมีเดช มากนัก อีกทั้งยังสามารถปัดเป่าอุปสรรคอันตรายทั้งหลายได้ ดังกล่าวไว้ ว่า
“... อรหันตาเจ้าก็สั่งพระยาสุลังวุติ ไหว้ไม้ศรีมหาโพธิ ต้นนี้วิเศษนัก ภายหน้าบ้านเมืองก็จักร้ายจักดีนัก หากรู้จักที่ไม้มหาโพธิต้นนั้นเบ่าอย่าชาและภายหน้าพระยาตนใด ได้เสวยเมืองลูกนี้แล้ว จุ่งแปลงค้ำเล่ม ๑ มาค้ำปีและเทื่อ ก็จักมีเตชฤทธีมากนัก และครั้นบุคละคฤหัสถ์และหญิงชายทั้งหลายฝูงใดได้ค้ำและสักการบูชา อ่อนน้อมคบยำแยงดั่งอั้น อันว่าสัพพะอุปาทวะกังวลอันตรายทั้งหลายก็จักระงับกลับหายเสี้ยงชุประการเบ่าอย่าชา...”

ด้วยเหตุนี้คนยองจึงยังคงมีประเพณีนำไม้มาค้ำกิ่งสะหลี ดังความเชื่อโบราณ และเป็นประเพณีที่แสดงถึงการค้ำชูพุทธศาสนา เช่นเดียวกับความเชื่อของคนเมืองล้านนาในอดีต

เมืองยองในอดีตนั้น เป็นเมืองอิสระปกครองตนเอง มีเจ้าหลวงเมืองยองปกครองเช่นเดียวกับหัวเมืองเหนืออื่นๆ โดยทั่วไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 ทางการพม่าได้ยกเลิกระบบเจ้าฟ้าและเข้าปกครองเมืองยองและดำเนินนโยบายกลืนชาติเช่นเดียวกับเมืองอื่นๆในรัฐฉาน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวยองมีความรักความผูกพันระหว่างผู้คนสายเลือดเดียวกันแนบแน่น แม้กระทั้งชาวยองที่ได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในฝั่งไทยเองแล้วก็ตาม

การจัดระเบียบในการปกครองเมืองยอง จัดแบ่งตามกลุ่มบ้านต่างๆเรียกว่า “หัวสิบ” ซึ่งเทียบเท่ากับตำบลของ เมืองไทย เมืองยองมีอยู่ 6 หัวสิบ หนึ่งหัวสิบมีประมาณ10-20 หมู่บ้าน แต่ละหัวสิบมี “อุ๊กระทะ” (กำนัน) เป็นผู้ดูแลหัวสิบ มี “แก่นาย” (ผู้ใหญ่บ้าน) ปกครองหมู่บ้าน เมืองยองมีหมู่ บ้านประมาณ 77-78 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 3-4 หมื่นคน แต่ละหมู่บ้าน ก็จะมีระบบการปกครองดูแลตนเอง

สำหรับในตัวเมืองยองที่เป็นเขตเมือง มีอยู่ 8 กลุ่มบ้าน แต่ละกลุ่มบ้านเรียกว่า “ป๊อก” ซึ่งแบ่งตามศรัทธาวัดต่างๆที่อยู่ในเขตเมืองยอง เช่น

ป๊อก 1: บ้านม่อน
ป๊อก 2: ตุ้งน้ำ(จอมแจ้ง)
ป๊อก 3: เชียงยืน
ป๊อก 4: ม่อนแสน
ป๊อก 5: ม่อนน้อย
ป๊อก 6: หนองแสน
ป๊อก 7: จอมสะหลี
ป๊อก 8: หัวข่วง
คนเมืองยองเรียกตนเองว่า “ไตเมิงยอง” หากอยู่นอกเวียง (หนอกเวง=นอกเมือง) ก็จะเรียกว่า “ไตบ้านนอกนาปาง”

ที่มา : แสวง มาละแซม, ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น: คนยองย้ายแผ่นดิน (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2), (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544), หน้า 41
ทวี สว่างปัญญางกูร, (ปริวรรต) ตำนานเมืองยอง, หน้า 31.
เคารพ พินิจนาม. “เมืองยองวิถีและความแปรเปลี่ยน” ใน สืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชาวยองรากเหง้า ความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลง, เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการ เนื่องในวาระครบรอบ200 ปีแห่งการตั้งถิ่นฐานของชาวยองในลำพูนและล้านนา 11-12 กันยายน 2549 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หน้า 31.

"เรือนไทยอง" ตอนที่ 1 : เมืองยอง

ตอนที่ 1 : เมืองยอง

ที่ตั้ง
เมืองยอง ถิ่นฐานเดิมของชาวไทยองนั้น ตัวเมืองตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเชียงตุง ราว100 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายประมาณ 170 กิโลเมตร บริเวณเมืองยองเป็นเขตเกษตรกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของพม่า มีลักษณะเป็นแอ่งที่ราบกลางหุบเขา แม้ขนาดไม่กว้างใหญ่นัก แต่มีความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีแหล่งน้ำสำคัญไหลผ่าน คือน้ำคาบ น้ำวัง น้ำปุ๋งและน้ำยองซึ่งเป็นแม่น้ำสายเล็กๆ ไหลไปทางตะวันออกลงสู่แม่น้ำโขงที่ สบยอง

ภูมิประเทศของเมืองยอง

เมืองยองเป็นที่ราบ มีแม่น้ำสายเล็กๆไหลผ่าน ล้อมรอบโดยภูเขา ลักษณะเด่นที่น่าสนใจในการเลือกทำเลที่ตั้งที่คล้ายกับเมืองเชียงใหม่ คือการเลือกที่ดินด้านตะวันตกสูงกว่าด้านตะวันออกในเขตกำแพงเมืองมีลักษณะกลมรีตั้งอยู่บนเนินสูง มีคูน้ำคันดิน และมีประตูเวียง 10 ประตูคือ

1. ประตูเสื้อเมือง ทิศตะวันออกเฉียงใต้
2. ประตูหนองเป็ด ทิศตะวันออก
3. ประตูดินแดง ทิศตะวันออก
4. ประตูเป่าเฝ่า (ประตูผี) อยู่ระหว่างบ้านจอมสะหลีกับภูเขา
5. ประตูนาแอง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทางหนองแสน
6. ประตูเจียงหุง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ใกล้พระธาตุจอมโลกม่อน
7. ประตูปางหิ่ง (หัวเวียง) ทิศตะวันตก อยู่หัวเวียงติดเทือกเขา
8. ประตูเหล็ก ทิศตะวันตกเฉียงใต้
9. ประตูหูหูด ทิศใต้ ทางบ้านทุ่ง
10. ประตูผาบ่อง ทิศใต้ บ้านทุ่งน้ำ บ้านม่อน


อาณาเขตและประตูเมืองประจำทิศ คือ
ทิศเหนือ ติดกับดอยปางหนาว มีประตูม่อนแสน
ทิศตะวันตก ติดเทือกเขาซับซ้อน มีประตูปางหิ่ง
ทิศตะวันออก ติดที่ราบ มีประตูป่าแดง
ทิศใต้ ติดกับเมืองพยาก มีประตูเสื้อเมืองและแม่น้ำยองไหลผ่าน
ภูมิประเทศของ สบยอง ภาพที่คณะ


หนองน้ำ มี 3 หนอง คือ
1. หนองแสน อยู่ระหว่างบ้านม่อนแสน พระธาตุจอมเหล็ก บ้านจอมสะหลี
2. หนองคำ อยู่นอกเวียง ไปทางบ้านบัว ใช้เป็นสถานที่เข่งเรือ
3. หนองปู่ถ่อน อยู่บ้านยางม้า เป็นหนองน้ำที่ใหญ่ที่สุดใน 3 หนอง

กาดในเมือง มี 5 แห่ง คือ
1. กาดหลวง อยู่ในเวียงยอง
2. กาดหัวยาง อยู่บ้านหัวยาง
3 กาดบ้านแพด อยู่บ้านแพด
4. กาดบ้าน(กาดตวง) อยู่บ้านตวง
5. กาดเมืองไร่ อยู่บ้านฮ่องเกย

สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ประจำเมืองยอง มี 4 แห่ง คือ
1. พระธาตุจอมยอง อยู่ทางบ้านตอง
2. ไม้สะหลีคำ (ต้นโพธิ์คำ) อยู่ทางบ้านจู
3. วัดพระเจ้าหลวง บ้านพระแก้ว
4 ตำหนักพระปี่หลวงป่าบุง บ้านกอลง


ที่มา : “ประเพณีไหว้สาพระธาตุหลวงจอมยอง” ใน สืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชาวยอง รากเหง้า ความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลง, เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการเนื่องในวาระครบรอบ 200 ปีแห่งการตั้งถิ่นฐานของชาวยองในลำพูนและล้านนา 11-12 กันยายน 2549 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่